แบคทีเรียกินเนื้อ

โรคเนื้อเน่า (Necrotizing fasciitis) หรือ แบคทีเรียกินเนื้อคน เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียที่ผิวหนัง ส่วนใหญ่จะระบาดในฤดูฝน ช่วงเกษตรกรลงดำนา ลุยโคลน และโดนหอย หรือเศษแก้วบาด เศษไม้ตำเท้า และไม่ได้ทำแผลหรือรักษาใด ๆ ทำให้เชื้อโรคเข้าไปในบาดแผล และเพิ่มจำนวนจนเกิดอาการรุนแรงได้ ถ้าไม่ได้รับการรักษาอย่างรวดเร็วและถูกต้อง อาจนำมาซึ่งการสูญเสียอวัยวะและอาจรุนแรงถึงขั้นทำให้เสียชีวิตได้

อาการ ในระยะแรกคือมีอาการเจ็บปวดบวม แดง ร้อน ที่ผิวหนังอย่างมาก อาการบวมแดงจะลามอย่างรวดเร็ว อาจมีตุ่มน้ำร่วมด้วย ต่อมาสีของผิวหนังจะเริ่มเปลี่ยนเป็นสีม่วงและมีเนื้อตายเกิดขึ้น เมื่อมีเนื้อตายเกิดขึ้นผู้ป่วยอาจมีอาการชามาแทนที่อาการเจ็บปวด มักจะมีไข้สูงและการติดเชื้อแบคทีเรียในกระแสเลือดร่วมด้วย ผู้ป่วยอาจมีภาวะช็อคและมีการทำงานที่ลดลงของอวัยวะต่างๆ เช่น ไต ตับ เป็นต้น มักพบการติดเชื้อบ่อยที่บริเวณแขนและขา  

การติดเชื้อแบคทีเรียกินเนื้อเป็นการติดเชื้อที่รุนแรง หากทิ้งไว้ไม่ได้รับการรักษาอาการจะทรุดลงอย่างรวดเร็ว ภายใน 48-72 ชั่วโมง ผู้ป่วยมักมีการตายของเนื้อเยื่อ จนเสียอวัยวะส่วนนั้น (เช่นติดเชื้อที่ขา ก็เสียขาข้างนั้น) และตามด้วยการติดเชื้อในกระแสเลือดจนเสียชีวิตในที่สุด

เชื้อแบคทีเรียกินเนื้อ ไม่มีวัคซีนการป้องกัน แต่เราสามารถป้องกันได้โดยหากมีบาดแผลตามร่างกาย เราควรทำความสะอาดแผลด้วยน้ำสะอาดหรือน้ำเกลือปราศจากเชื้อ จากนั้นปิดแผลด้วยผ้าปิดแผลหรือพลาสเตอร์ เปลี่ยนผ้าปิดแผลทุกวันจนแผลหาย 

หากมีบาดแผลที่ยังไม่หาย ไม่ควรลงว่ายน้ำในสระน้ำหรือ แช่บ่อน้ำร้อน หรือลงว่ายน้ำในแหล่งน้ำสาธารณะใด ๆ เพราะจะทำให้มีโอกาสเกิดการติดเชื้อแบคทีเรียผ่านทางบาดแผลได้ 

ไม่ควรบ่งด้วยเข็มหรือกรีดเปิดแผลด้วยตัวเอง เนื่องจากอุปกรณ์ที่ไม่สะอาดจะส่งเสริมการติดเชื้อให้เพิ่มมากขึ้น  ถ้าแผล มีอาการปวดบวม แดงร้อนที่ผิวหนัง หรือมีไข้ให้รีบไปพบแพทย์เพื่อรับการวินิจฉัยและรักษาโดยทันที  ผู้ป่วยที่มีภาวะภูมิคุ้มกันต่ำ โรคเบาหวาน โรคตับแข็ง มีความเสี่ยงสูงในการติดเชื้อจึงต้องให้ความระมัดระวังเป็นพิเศษ 

ถ้าสงสัยว่าติดเชื้อแบคทีเรียกินเนื้อ ให้รีบมาพบแพทย์โดยด่วนที่สุด เพื่อแพทย์จะได้รีบให้การรักษาอย่างทันท่วงที


ข้อมูล
https://www.sanook.com/health/17677/
https://www.praram9.com/necrotizing-fasciitis/
https://www.si.mahidol.ac.th/Th/healthdetail.asp?aid=1124

สุขสาระออนไลน์ ฉบับที่ 232
เดือนมิถุนายน 2567
มูลนิธิสร้างสุขมุสลิมไทย (สสม.)
www.muslim4health.or.th

ความคิดเห็น