ลุกมาน กูนา
การทำงานเพื่อลดอัตราการสูบบุหรี่ จะสำเร็จไม่ได้เลยหากขาดกลไกสำคัญในการขับเคลื่อน คือ กลุ่มอาสาสมัครพาเลิกบุหรี่ในชุมชนที่ผ่านการอบรมให้ความรู้เกี่ยวกับเทคนิคการช่วยเหลือผู้ที่ต้องการเลิกบุหรี่ ทั้งนี้ การดำเนินงานจะเน้นบทบาทของภรรยาและบุตรสาว เนื่องจากสาเหตุ 2 ประการ ประการแรก ภรรยามีบทบาทสำคัญในการใช้จ่ายของครัวเรือนและมีความใกล้ชิดอบรมดูแลบุตร ประการที่สอง บุตรสาวจะมีสถานะของภรรยาและมารดาในอนาคต จึงมีศักยภาพที่จะมีบทบาทสำคัญในการสร้างครอบครัวที่สมาชิกในครอบครัวไม่สูบบุหรี่ (ครอบครัวใหม่ไม่สูบบุหรี่) จนสามารถทำให้สมาชิกในบ้านเลิกบุหรี่ได้ พร้อมขยายผลไปยังสมาชิกในชุมชน ภายใต้คำขวัญ “เลิกบุหรี่บ้านละคน”
อาสาสมัครพาเลิกบุหรี่เป็นผู้ที่พร้อมทำงานเพื่อช่วยเหลือประชาชนและสังคมส่วนรวม งานที่ทำด้วยใจและไม่ถูกบังคับ การทำงานอาสา เป็นการทำงานที่ไม่คาดหวังสิ่งตอบแทนหรือผลประโยชน์ เรียกได้ว่า เป็นการทำงานเพื่อสังคมส่วนรวมโดยแท้จริง การมีอาสาสมัครถือเป็นเรื่องที่ดี เพราะงานอาสาสมัคร คือ งานที่ทุกคนร่วมใจกันลงมือทำ อีกทั้งงานอาสาสมัครแต่ละงาน เป็นการทำงาน เพื่อดูแล พัฒนา แก้ปัญหาและป้องกัน ซึ่งเป็นสิ่งที่ทำแล้วไม่ได้มีผู้รับเพียงแค่คนเดียว แต่ผู้รับยังหมายถึงสังคมส่วนรวมทั้งหมดอีกด้วย ทุก ๆ ระยะเวลา 3 เดือน ทีมงานอาสาสมัครพาเลิกบุหรี่และทีมงาน สสม. จะร่วมกันสรุปผลและพูดคุยถึงปัญหาและอุปสรรคที่เกิดขึ้น และร่วมกันหาแนวทางเพื่อหาทางออกในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว
หลาย ๆ คนที่สามารถเลิกบุหรี่ได้ส่วนใหญ่ ต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า จะไม่ขอกลับไปสูบใหม่อีกแล้ว เช่นในกรณีของนายอิบร่อเอน สาระวารี จากชุมชนคลองเขม้า จังหวัดกระบี่ กล่าวว่า
“ยอมรับว่าใช้เวลานานมากกว่าจะเลิกขาดได้ แต่มีความตั้งใจที่จะเลิกบุหรี่จริง ๆ ภรรยา ลูก ๆ บอกเสมอให้เลิก รำคาญควันบุหรี่ด้วย อยากให้เลิกบุหรี่จริงจังสักที สูบบุหรี่ครั้งแรกตอนอายุ ประมาณ 35 ปี ในอดีตเป็นคนที่สูบบุหรี่เยอะมาก วันละสองซองเป็นอย่างต่ำ ยิ่งเข้าสังคมเยอะๆ ยิ่งทำให้สูบบุหรี่เยอะขึ้น สาเหตุหลักๆที่สูบบุหรี่ พออายุประมาณ 40 กว่าเริ่มรู้สึกว่าเจ็บป่วยบ่อย เริ่มมีอาการป่วยที่มากขึ้น จึ่งพยายามลดจำนวนการสูบบุหรี่ลงเรื่อย ๆ ตอนนี้เลิกบุหรี่ได้แล้ว ทำใจได้แล้ว ใจแข็งมาก เพราะปัจจุบันเวลามีเพื่อนที่สูบบุหรี่ยื่นบุหรี่มาให้สามารถปฏิเสธได้แล้ว ไม่หันกลับไปสูบอีกแล้ว กลิ่นของบุหรี่ก็ไม่ได้หอมหวานเหมือนอย่างที่เคยสูบในอดีต ใช้วิธีลดจำนวนการสูบบุหรี่ลงไปเรื่อย ๆ ไม่ได้เลิกแบบหักดิบ ยอมรับว่าใช้เวลานานมากกว่าจะเลิกขาดได้ แต่มีความตั้งใจที่จะเลิกบุหรี่จริง ๆ ภรรยา ลูก ๆ บอกเสมอให้เลิก รำคาญควันบุหรี่ด้วย อยากให้เลิกบุหรี่จริง ๆ จัง ๆ สักที นอกจากจะมีอาสาสมัครมาชักชวนแล้ว ปัญหาสุขภาพก็เป็นอีกปัญหาหนึ่งที่ทำให้ต้องบังคับตัวเองเพื่อให้เลิกบุหรี่ให้ได้ ช่วงเวลาที่อยากสูบบุหรี่มากที่สุด คือช่วงเวลาหลังดื่มชา กาแฟ ต้องมีบุหรี่มาสูบปิดท้ายตลอด ดีนะที่มีอาสาสมัครพาเลิกบุหรี่ สามารถปรึกษาได้ตลอด มาหาถึงที่บ้านเพื่อคอยติดตาม...
...อยากจะฝากให้กับคนที่ยังไม่สูบบุหรี่ ว่าอย่าคิดที่จะลองสูบบุหรี่ เพราะถ้าติดแล้วมันจะเลิกอยากมาก ๆ ยิ่งเข้าสังคมยิ่งเลิกยาก บ้างครั้งเราสูบบุหรี่เยอะกว่าการซื้อบุหรี่มาสูบเองอีก เพราะเวลาเข้าสังคมแล้ว คนนู้นก็ให้ คนนี้ก็ให้ กลับกลายเป็นว่าเราสูบบุหรี่เยอะเป็นพิเศษ การไม่ลองสูบบุหรี่คือวิธีที่ดีที่สุดที่จะทำให้เราไม่ติดบุหรี่”
อย่างไรก็ตาม ขอเป็นกำลังใจให้กับบรรดากลุ่มอาสาสมัครพาเลิกบุหรี่ในทุก ๆ พื้นที่นะครับ เพราะการทำงานของของเราไม่สามารถทำให้ใครคนใดคนหนึ่งพอใจได้ แต่เราสามารถพอใจและภูมิใจในตัวของเราเองได้อย่างภาคภูมิที่สุด ที่เราสามารถเปลี่ยนแปลงบุคคลคนหนึ่งให้เค้ามีสุขภาพที่ดีได้ ตลอดจนสามารถทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสังคมได้ไม่มากก็น้อย
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น