คนสวย คนหล่อ ใครก็ชอบมอง ใคร ๆ ก็อยากคบ แม้แต่ผัก คนส่วนใหญ่จะเลือกผักสวย ๆ ถ้าขี้เหร่ คือปลูกออกมาแล้วไม่สวย ก็ไม่มีใครอยากได้ อยากซื้อ มักถูกปล่อยทิ้งจนต้องนำไปทำอาหารสัตว์ ซ้ำร้ายกลายเป็นขยะอาหารก่อมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นตัวการสำคัญที่ก่อให้เกิดภาวะโลกร้อน โดยในทุก ๆ ปีทั่วโลกทิ้งขยะอาหารกว่า 1.3 พันล้านตัน ซึ่งแน่นอนว่าผักและผลไม้มีจำนวนมากที่สุดในบรรดาขยะอาหารทั้งหมด
นอกจากนี้ยังมีรายงานว่า ทุก ๆ ปีในสหราชอาณาจักรมีผักผลไม้สดถูกโยนทิ้งกว่า 4.5 ล้านตัน เนื่องจากรูปลักษณ์ภายนอกที่ไม่สวย ผิดรูป แม้จะสามารถกินได้และมีคุณค่าทางโภชนาการครบสมบูรณ์ก็ตาม ผักผลไม้เหล่านั้นก็ไม่มีวันได้วางขายในซูเปอร์มาร์เก็ต
อย่างไรก็ดี ยังมีผู้บริโภคจำนวนหนึ่งที่ไม่สนใจในเรื่องความสวย ขอเพียงคุณค่าทางอาหารครบถ้วนก็พอ ผู้บริโภคกลุ่มนี้อยากได้ผักออร์แกนิกที่ราคาถูก ไม่ต้องสวยเพอร์เฟกต์แต่ได้ประโยชน์ต่อสุขภาพ
ปัจจุบันทั่วโลกกำลังให้ความสำคัญกับปัญหาขยะอาหารและผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมเป็นอย่างมาก โดยองค์การสหประชาชาติ หรือ UN ได้ประกาศให้ปี 2021 เป็นปีแห่งผักและผลไม้สากล (The International Year of Fruits and Vegetables) เพื่อสนับสนุนการผลิตผักผลไม้อย่างยั่งยืนและลดปริมาณขยะอาหาร รวมถึงรณรงค์ให้คนหันมาบริโภคผลผลิตขี้เหร่ (Ugly product) แม้ผักผลไม้จะหน้าตาไม่สวยตรงตามมาตรฐาน แต่ภายในก็ให้คุณประโยชน์ได้ไม่ต่างกันเลย
ฝรั่งเศส - แคมเปญ "Inglorious Fruits and Vegetables" ในปี 2014 ของซูเปอร์มาร์เก็ตชื่อดัง Intermarche ที่นำผักผลไม้หน้าตาขี้เหร่ ขนาดไม่ได้มาตรฐาน เช่น แอปเปิ้ล มันฝรั่ง ส้ม เลมอน มะเขือม่วงและแครอท แต่ยังคงคุณประโยชน์เหมือนเดิมมาจำหน่ายในราคาที่ถูกลง 30 % รวมถึงทางห้างยังมีการแจกผลิตภัณฑ์จากผักผลไม้ขี้เหร่อย่างซุปแครอทและน้ำส้มคั่น เพื่อให้ผู้บริโภคได้ลองชิมก่อนซื้อผักผลไม้ขี้เหร่ และเป็นการสร้างความมั่นใจว่ารสชาติคุณประโยชน์ของมันไม่ได้ด้อยไปกว่าผลที่หน้าตาสวยเลย
ซึ่งผลตอบรับแคมเปญ Inglorious Fruits and Vegetables ถือว่าดีมาก โดย 2 วันหลังเริ่มแคมเปญซูเปอร์มาร์เก็ต Intermarche สามารถขายผักผลไม้ขี้เหร่ไปถึง 1.2 ตัน และมีลูกค้าไหลเวียนเข้าซูเปอร์มาร์เก็ตเพิ่มขึ้น 24% แถมยังเป็นที่พูดถึงและรู้จักในโลกสังคมออนไลน์ถึง 13 ล้านคนภายในระยะเวลา 1 เดือน
โปรตุเกส - โครงการ "Fruta Feia Cooperative" (Fruta feia แปลว่า ผลไม้น่าเกลียด) จากไอเดียของอิซาเบล ซัวเรส (Isabel Soares) สาวชาวโปรตุเกส ผู้ก่อตั้งโครงการนี้ขึ้นมาเพื่อซื้อผลผลิตท้องถิ่นจากฟาร์มต่างๆ ในโปรตุเกส ซึ่งเป็นผลผลิตรูปลักษณ์น่าเกลียดที่ร้านค้าไม่ต้องการ นำไปจัดจำหน่ายโดยผู้บริโภคสามารถเลือกซื้อได้ 2 แบบ คือ 1. กล่องเล็กน้ำหนัก 3-4 กิโลกรัม มีผลผลิตคละกัน 7 ชนิด ในราคา 3.6 ยูโรหรือประมาณ 140 บาท และ 2. กล่องใหญ่น้ำหนัก 6-8 กิโลกรัม มีผลผลิตคละกัน 8 ชนิด ในราคา 7.2 ยูโรหรือประมาณ 280 บาท
ประเทศไทย วิทยาลัยนานาชาติมหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้ผุดไอเดียสร้างโมเดลธุรกิจสีเขียวในรูปแบบแพลตฟอร์มดิจิทัล ภายใต้ชื่อ “Ugly Veggies” ขึ้น เพื่อส่งต่อผักออร์แกนิกขี้เหร่ ให้เป็นทั้งสินค้าและทูตสิ่งแวดล้อมที่จะสื่อสารว่า “ต่อให้ไม่สวย ฉันก็ดีต่อสุขภาพและช่วยโลกให้ยั่งยืนได้”
"แพทตี้" หญิงสาวที่เคยใช้ชีวิตในเมืองนอกสู่การทำเกษตรแบบออร์แกนิกอย่างจริงจัง โดยมีความตั้งใจที่จะปลูกพืชผักแบบปลอดสารสู่ผู้บริโภคแบบปลอดภัย นอกจากนี้แพทตี้ยังเห็นถึงความสำคัญของเกษตรกรที่ทำออร์แกนิกเมื่อต้องเจอปัญหาผักหน้าตาไม่สวย ไม่มีคนซื้อ จึงหันมาสนับสนุนโครงการเกี่ยวกับผักขี้เหร่ภายใต้ชื่อ “Ugly Veggies” ที่ทำให้คนซื้อได้มองเห็นคุณค่า และคุณประโยชน์ของผักที่ไม่ใช่เพียงแต่รูปลักษณ์ภายนอกนั่นเอง คุณผู้อ่านสามารถติดตามเรื่องราวของเธอได้ที่
https://www.youtube.com/watch?v=sKMVW1a81MM&list=PLRS4T4F2sF1oyZsuQknuX_xEkHdP2d1NM
คุณผู้อ่าน สามารถร่วมเป็นส่วนหนึ่งกับแพลตฟอร์ม Ugly Veggies โดยเข้าไปที่ https://uglyveggies.kku.ac.th แล้วกดปุ่ม “ดูสินค้า” จะนำคุณสู่แพลตฟอร์มในรูปแบบไลน์ธรุกิจ อ่านข้อมูลก่อนสมัคร ก่อนกด “อนุญาต” เท่านี้ก็เข้าไปเลือกซื้อผักไม่สวยแต่เป็นออร์แกนิกมาไว้บริโภคเพื่อสุขภาพของคุณและเพื่อสุขภาพของโลกได้แล้ว
https://www.greenery.org/ugly-veggies/
https://www.rakbankerd.com/agriculture/hilight-view.php?id=276&s=tblheight
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น