วานิลลา เป็นกลิ่นที่ได้จากฝักของกล้วยไม้สกุล Vanilla ต้นกำเนิดจากเม็กซิโก ตระกูลเดียวกับ กล้วยไม้ (Orchidaceae) วานิลลาเป็นพืชเครื่องเทศที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจสูงเป็นอันดับสองในตลาดโลก เป็นรองเพียงแค่หญ้าฝรั่นเท่านั้นโดยผลผลิตของวานิลลาคือ ฝักที่บ่มแล้วและมีการสร้างสารที่ให้กลิ่นที่เรียกว่า วานิลลิน (Vanillin) และมีการนำสารนี้มาใช้ประโยชน์
ชื่อวานิลลามาจากคำในภาษาสเปนว่า "ไบย์นียา" (vainilla) ซึ่งแปลว่า ฝักเล็ก ๆ วานิลลามักถูกนำมาใช้แต่งกลิ่นในการทำอาหารประเภทของหวานและไอศกรีม ปลูกได้ในประเทศไทย ให้ผลผลิตสูงถึง 20,000 บาทต่อกิโลกรัม
วานิลลามีมากกว่า 50 ชนิดและมีเพียง 3 ชนิดที่มีสารวานิลลิน ได้แก่
- Vanilla planifolia Andrew. (Vanilla fragrans Salibs)
- Vanilla pompona Shiede.
- Vanilla tahitensis J. W. Moore.
วานิลลามีแหล่งผลิตที่สำคัญอยู่ที่ประเทศมาดากัสกา อินโดนีเซีย เม็กซิโก อย่างไรก็ตามผลผลิตที่ได้ยังไม่เพียงพอกับความต้องการของตลาด
ปัจจุบันมีหน่วยงานในประเทศไทย อาทิ มูลนิธิโครงการหลวง ได้ทำการศึกษาวิจัยและปลูกทดสอบตามสถานีวิจัยต่าง ๆ เพื่อจะพัฒนาและส่งเสริมการปลูกให้เป็นพืชเศรษฐกิจอีกชนิดหนึ่งในประเทศ
ลักษณะโดยทั่วไปของวานิลลา
- ลำต้น เป็นเถาเลื้อย สีเขียว ยาว อวบน้ำ เถาพันไปบนต้นไม้ โดยใช้รากเป็นอวัยวะยึดเกาะ
- ใบ มีลักษณะแบน หนา สีเขียวเข้ม เป็นเงามัน อวบน้ำ ก้านใบสั้น
- ราก เป็นรากอากาศ มีสีขาว หรือสีขาวแกมเขียว ค่อนข้างยาว จะเกิดบริเวณข้อ ตรงข้ามกับใบ
- ตาดอก เกิดขึ้นตรงซอกใบ มีสีเขียว หนึ่งเถามีได้หลายช่อดอก หนึ่งช่อดอกมีจำนวน 5-16 ดอกและจะมีดอกบานเพียง 1-2 ดอกต่อวัน
- ดอก มีสีเหลืองปนเขียว หนึ่งดอกประกอบด้วย กลีบเลี้ยง 3 กลีบ กลีบดอก 3 กลีบ โดยกลีบดอก หนึ่งกลีบมีการพัฒนารูปเป็นปากแตร การผสมเกสรต้องอาศัยแมลง หรือ การช่วยผสม ดอกจะบานตอนเช้าและหุบตอนบ่าย ถ้าดอกไม่ได้รับการผสมก็จะร่วงไปในวันรุ่งขึ้น
- ฝัก มีลักษณะคล้ายทรงกระบอก สีเขียว เมื่อแก่ฝักจะเปลี่ยนเป็นสีเหลืองแกมน้ำตาล มีกลิ่นเล็กน้อย ระยะเวลาตั้งแต่ผสมเกสรจนถึงฝักแก่ใช้เวลาประมาณ 8-9 เดือน จำนวนฝักต่อช่อขึ้นอยู่กับจำนวนดอกที่ผสมติด
จากการศึกษาทางด้านจิตวิทยา พบว่ากลิ่นวานิลลามีความสามารถในการสร้างความรู้สึกสงบนิ่ง และลดความตื่นตระหนกได้เป็นอย่างดี และยังได้ถูกนำมาประยุกต์ใช้ประโยชน์ในทั้งในด้านการแพทย์หรือในด้านการบำบัดจิต โดยจุดประสงค์หลักคือเพื่อช่วยในการสร้างความรู้สึกสงบและผ่อนคลาย โดยมีการนำมาประยุกต์ใช้ในกลุ่มของคนไข้ที่มีอาการทางจิตที่ไม่ร้ายแรง ประเภทกลุ่มคนไข้ที่เป็นโรคเครียดหรือวิตก หรืออาจนำไปใช้ในการบำบัดความเครียดให้กับกลุ่มคนไข้ที่ต้องเผชิญกับความเครียดในการต่อสู้กับโรคที่ร้ายแรง เช่น มะเร็ง หากคนไข้มีความรู้สึกที่ผ่อนคลายมากขึ้นก็ย่อมทำให้แพทย์สามารถทำงานได้ง่ายขึ้น
https://stri.cmu.ac.th/article_detail.php?id=39
https://www.gib.co.th/เรื่องน่ารู้_Und_วานิลลา_Und_ปลูกอย่างไรให้ผลผลิตดี/5d312f49ee359b0019232c76
https://stri.cmu.ac.th/article_detail.php?id=39
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น