สมุนไพรให้สีแต่งอาหาร

สีแต่งอาหารไทยที่เราเห็นกันอยู่ทุกวันนี้ ส่วนมากแล้วเป็นสีสังเคราะห์ ถ้าสะสมในร่างกายมาก ก็อาจเป็นอันตรายต่อร่างกายได้ สีผสมอาหารที่ดูจะปลอดภัยคงหนีไม่พ้นสีผสมอาหารตามธรรมชาติ ที่คนไทยเรารู้จักนำสีจากสมุนไพร มาใช้แต่งอาหารกันตั้งแต่รุ่นปู่ย่า ตายาย ซึ่งนอกจากจะปลอดภัย และเพิ่มคุณค่าทางอาหาร ยังช่วยให้อาหารคาวหวานมีกลิ่นและรสชาติชวนกินอีกด้วย

*ใบเตย เราใช้ใบสดคั้นเอาน้ำมาผสมกับอาหาร ให้กลิ่นหอมเย็นชื่นใจ ชวนรับประทาน ใบเตยมีสรรพคุณช่วยบำรุงหัวใจ รักษาโรคหืด ใบสด นิยมใช้แต่งกลิ่นเครื่องดื่ม เช่น น้ำสมุนไพรฝาง น้ำสมุนไพรรางจืด น้ำสมุนไพรดอกอัญชัน และน้ำเชื่อม เพราะจะดับกลิ่นที่ไม่พึงประสงค์

*ดอกอัญชัน ใช้กลีบดอกคั้นกับน้ำ เอาน้ำมาผสมกับอาหาร ดอกอัญชันจะมีทั้งสีขาวและสีม่วง ใช้ดอกสีม่วง น้ำที่คั้นได้นั้น เมื่อนำมาผสมกับอาหาร จะได้สีน้ำเงินอมม่วง ข้าวสวยร้อนๆ ก็มีสีสันแปลกตาน่ากิน

*กระเจี๊ยบแดง ใช้กลีบเลี้ยงตากแห้งแช่น้ำอุ่น หรือต้ม จะได้สีแดงเข้ม มีรสเปรี้ยว ควรนำไปผสมอาหารจำพวกลูกอม แยม เยลลี หรือเครื่องดื่มที่มีรสเปรี้ยวน้ำกระเจี๊ยบแดงที่ได้สีแดงเข้มนั้นจะมีสาร Anthocyanin ซึ่งนำไปแต่งสีอาหารได้

*ดอกคำฝอย ใช้ดอกคำฝอยแก่ มาชงน้ำร้อน กรอง จะได้น้ำสีเหลืองส้ม (สาร safflower yellow) ใช้แต่งสีอาหารที่ต้องการให้เป็นสีเหลือง

*แก่นฝาง ใช้แก่นของฝาง มาแช่ในน้ำอุ่น ๆ จะได้สีชมพูแดง ใช้ต้มกับน้ำ เป็นเครื่องดื่มสมุนไพรฝางสรรพคุณเป็นยาบำรุงโลหิตสตรี แก้ปอดพิการ ขับหนอง ขับเสมหะ ทำโลหิตให้เย็น แก้โรคหืด แก้อาการท้องร่วง ธาตุพิการ ร้อนใน แก้โลหิตออกทางทวารหนักและทวารเบา

*คำแสด ใช้เมล็ดที่ให้สารสีแสดแดง ชื่อ Bixin  ผสมอาหารประเภทไขมัน เช่นฝอยทอง เนย ไอศกรีม องค์การอนามัยโลกกำหนดให้รับประทานสีที่สกัดจากเมล็ดคำแสดได้ไม่เกิน 0.065 มิลลิกรัม ต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม ต่อ 1 วัน สารสกัด Bixin จากคำแสดยังมีคุณสมบัติเป็นยาระบายอ่อนๆ วิธีเตรียมสีจากเมล็ดคำแสด ให้แกะเมล็ดออกจากผลที่แก่จัด แช่น้ำร้อนหมักทิ้งไว้หลายๆ วันจนสารสีตกตะกอน แยกเมล็ดออก นำน้ำสีที่ได้ไปเคี่ยวจนงวดเกือบแห้ง แล้วนำไปตากแดดจนแห้งเป็นผงเก็บไว้ใช้

*เหง้าของขมิ้นชันหรือขมิ้นอ้อย ปอกเปลือกโขลกให้ละเอียด เติมน้ำ แล้วกรองเอาแต่น้ำจะได้น้ำสีเหลืองมาผสมอาหาร เช่น ข้าวหมกไก่ หรือแกงเหลือง และยังได้ประโยชน์จากสมุนไพรอีกด้วย เพราะขมิ้นชันจะช่วยขับประจำเดือน สำหรับสตรีที่ประจำเดือนมาไม่ปกติ รักษาแผลในกระเพาะอาหาร ส่วนขมิ้นอ้อย ก็สามารถรักษาอาการท้องร่วง และลดไข้

ยังมีสมุนไพรอีกมากที่ให้สีแต่งอาหาร ให้ความปลอดภัย และมีประโยชน์ต่อร่างกาย ซึ่งสุขสาระ

จะนำมาฝากคุณผู้อ่านในโอกาสต่อไป


ข้อมูล
http://herbalssak.blogspot.com/2010/11/blog-post_1003.html
http://www.thaiherbdd.com/?i=5&p=48
http://thaiherbman.wordpress.com

สุขสาระออนไลน์ ฉบับที่ 233
เดือนกรกฎาคม 2567
มูลนิธิสร้างสุขมุสลิมไทย (สสม.)
www.muslim4health.or.th

ความคิดเห็น