“เครียดลงกระเพาะ”

“ความเครียด” ส่งผลกระทบต่อร่างกายและจิตใจ เป็นจุดเริ่มต้นของโรคร้าย สามารถเกิดได้กับทุกคน ทุกเพศทุกวัย เพราะในแต่ละวันเราพบเจอปัญหามากมายจนเกิดเป็นความเครียดสะสม บางคนสามารถจัดการกับความเครียดได้ แต่บางคนสะสมความเครียดจนมีอาการปวดท้องและคลื่นไส้จนเกิดโรคที่เรียกกันว่า “โรคเครียดลงกระเพาะ” ซึ่งโรคนี้เกิดจากความเครียดที่เป็นปัจจัยหนึ่งที่ไปกระตุ้นให้กระเพาะอาหารมีความไวต่อสิ่งกระตุ้นจนทำให้เกิดอาการผิดปกติได้ง่ายกว่าคนทั่วไป

สัญญาณเตือนเครียดลงกระเพาะ

  • ปวดจุก แสบแน่นลิ้นปี่ หรือบริเวณใต้ชายโครงเยื้องไปด้านซ้าย เป็นสัญญาณเริ่มต้นของเครียดลงกระเพาะ 
  • การนอนเปลี่ยนไป เช่น ตอนกลางคืนนอนไม่พอจากความเครียด ทำให้เพลียมากกว่าปกติในตอนกลางวัน 
  • อยากอาหารเพิ่มขึ้น เวลาเครียดร่างกายจะรู้สึกเพิ่มความอยากอาหาร โดยเฉพาะอาหารหวาน ๆ เนื่องจากจะทำให้ร่างกายรู้สึกมีความสุขเพิ่มมากขึ้น

โรคเครียดลงกระเพาะไม่ใช่โรคร้ายแรงที่ทำให้เสียชีวิตได้ แต่เป็นโรคเรื้อรังที่รบกวนต่อคุณภาพชีวิตเพราะอาการมักจะเป็น ๆ หาย ๆ หรืออาจมีอาการรุนแรงได้เป็นช่วง ๆ แต่หากมีอาการผิดปกติที่เป็นสัญญาณเตือน เช่น น้ำหนักลดลงอย่างรวดเร็วโดยไม่ทราบสาเหตุ กลืนลำบาก กลืนเจ็บ ถ่ายดำหรืออาเจียนเป็นเลือด กินอาหารได้น้อยลง อิ่มเร็วขึ้น มีอาการคลื่นไส้ อาเจียนเรื้อรัง หรืออ่อนเพลียผิดปกติควรพบแพทย์เพื่อตรวจเพิ่มเติมว่าเสี่ยงมีอาการแทรกซ้อนหรือเป็นภาวะของโรคร้ายแรงอื่น ๆ หรือไม่ เช่น โรคมะเร็งในช่องท้อง 

โรคเครียดลงกระเพาะอาหารสามารถรักษาให้หายได้ โดยปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิต แต่หากปรับเปลี่ยนพฤติกรรมแล้ว ยังมีอาการไม่ดีขึ้น ควรพบแพทย์เพื่อหาสาเหตุและรับการรักษาอย่างถูกวิธี

วิธีป้องกันโรคเครียดลงกระเพาะต้องจัดการความเครียดของตัวเองให้ได้ โดยทานอาหารให้ตรงเวลา เลิกดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เลิกบุหรี่ หากิจกรรมในชีวิตประจำวันให้ร่างกายและจิตใจรู้สึกผ่อนคลาย เช่น ดูหนัง เล่นเกม ฟังเพลง ออกกำลังกาย รวมถึงการพูดคุยระบายความเครียดกับคนที่ไว้ใจ และอาจปรึกษานักจิตวิทยาหรือจิตแพทย์

‘ความเครียด’ จุดเริ่มต้นของโรคร้าย ส่งผลร้ายต่อจิตใจ และยังส่งผลต่อปัญหาสุขภาพกายอีกด้วย ดังนั้นหากรู้สึกว่าตนเองเครียดมากเกินไป ควรหากิจกรรมที่ช่วยผ่อนคลายความเครียด เช่น ออกกำลังกาย อ่านหนังสือ ฟังเพลง ทำสมาธิ ทำอาหาร เพื่อช่วยลดความเครียด พร้อมจัดตารางการทำงานและวางแผนการทำงานล่วงหน้า


ข้อมูล
https://www.sikarin.com/health/เครียดลงกระเพาะ-โรคยอด
https://www.bangkokhospital.com/content/prevent-and-treat-stress-in-the-stomach
https://www.rama.mahidol.ac.th/ramachannel/article/โรคเครียดลงกระเพาะ-หยุด/


สุขสาระออนไลน์ ฉบับที่ 233
เดือนกรกฎาคม 2567
มูลนิธิสร้างสุขมุสลิมไทย (สสม.)
www.muslim4health.or.th

ความคิดเห็น