เมื่อครั้งที่ผู้เขียนยังทำงานอยู่ภาคเอกชน หลาย (สิบ) ปีมาแล้ว ในการอบรมพัฒนาบุคลากร อาจารย์ผู้อบรมท่านหนึ่งบอกว่า ด้วยข้อมูลทางสถิติ “เรา” คนไทย มีอายุเฉลี่ยกันประมาณ 65 ปี ลองเอาจำนวนวันคือ 365 วันคูณดูก็จะรู้ว่า “เรา” จะมีอายุเฉลี่ยคิดเป็นวันได้ 23,725 วัน และถ้าวันนี้คุณอายุ 35 ปี เมื่อคำนวณดูก็พบว่าคุณใช้เวลาไปแล้ว 12,775 วัน ยังเหลือเวลาเฉลี่ยอยู่อีกเพียง 10,950 วันเท่านั้น !
ดูจะเป็นความเคยชินเมื่อเราบอกว่าคนที่มีอายุ 70 หรือ 80 ปี เป็นคนอายุยืน ฟังดูแล้วรู้สึกว่าระยะเวลา 70 หรือ 80 ปี นั้นแสนยาวนาน ถ้าบางคนอายุยืนนับเป็นร้อยปี ยิ่งไม่ต้องพูดกัน แต่เมื่อพลิกจากปีมาเป็นวัน เรากลับรู้สึกว่าจริง ๆ แล้วอายุของคนเรานั้น ช่างแสนสั้น !
ถ้าสมมุติ..สมมุตินะ.. ว่าเรามีเวลาอยู่ในโลกนี้เพียง 23,725 วัน ดังกล่าว และวันนี้คุณมีอายุ 55 ปี ดังนั้น ถ้าใช้สูตรนี้ คุณอาจจะมีเวลาอยู่ในโลกนี้อีกเพียง 3,650 วันเท่านั้นเอง ! ...3,650 วันเท่านั้นเองหรือ ? แล้ว 20,075 วันที่ผ่านมา เราทำอะไรให้กับโลกใบนี้บ้าง ?
จะทำอย่างไรกันดี ? กับเวลาที่เหลืออยู่ 3,650 วัน หรืออีกสองหมื่นกว่าวันของใครบางคน และจะอยู่ถึงหรือไม่ ยังต้องคิด
“เวลา” จึงเป็นสมบัติมหัศจรรย์ที่ไม่สามารถหยิบมาใช้สอยได้อย่างใจนึก
“เวลา” จึงไม่ใช่สมบัติที่สามารถสะสม และนำกลับมาใช้ได้ เหมือนการสะสมเงินทอง
“เวลา” เป็นสมบัติมหัศจรรย์ที่เรามีมาตั้งแต่เกิดอย่างเท่าๆ กัน แต่เรากลับมีเวลาอยู่ในโลกใบนี้ไม่เท่ากัน และได้ประโยชน์จากเวลาต่างกัน
แม้ว่าเราจะไม่สามารถเก็บรักษาเวลาไว้ในธนาคาร หรือย้อนเวลาไปแก้ไขข้อบกพร่องในอดีตได้ แต่เราก็สามารถจัดสรรเวลาให้มีคุณค่าทั้งต่อตัวเรา ครอบครัว และสังคมรอบข้างได้ มิใช่หรือ ?
“ขอสาบานด้วยกาลเวลา แท้จริง มนุษย์อยู่ในการขาดทุน นอกจากบรรดาผู้ศรัทธา และกระทำความดีทั้งหลาย และตักเตือนกันและกันในสัจธรรม และตักเตือนกันและกันในขันติธรรม” อัลกุรอาน 103 : 1-3
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น