สร้างสุขมุสลิมไทย

โครงการเครือข่ายกองทุนซะกาตระดับภูมิภาค

นางสาวอลินา หีมเหม ผู้รับผิดชอบโครงการฯ

มูลนิธิสร้างสุขมุสลิมไทย สสม. พร้อมกับองค์กรพันธมิตร จัดเวที พัฒนาศักยภาพเครือข่ายกองทุนซะกาต โดยเมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2657 ร่วมกับ สมาคม กำนัน ผู้ใหญ่บ้านจังหวัดปัตตานี จัดเวทีพัฒนาศักยภาพเครือข่ายกองทุนซะกาต เพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน ณ องค์การบริหารส่วนตำบลบาราเฮาะ จ.ปัตตานี โดยนายภัทรพงศ์ อิลาชาญ (ที่ 2 จากซ้าย) ตัวแทนจากต้นแบบกองทุนซะกาต สสม. “กองทุนซะกาตบัยตุลมาลจังหวัดเชียงใหม่” ร่วมถ่ายทอด แลกเปลี่ยนประสบการณ์การทำงาน เพื่อสร้างกระบวนการเรียนรู้ และการขับเคลื่อนกองทุนซะกาตในระดับพื้นที่ ทั้งนี้ ผู้นำชุมชน ผู้นำศาสนา อาทิ อิหม่าม กรรมการมัสยิด ผู้ใหญ่บ้าน กรรมการหมู่บ้านและอสม.ในพื้นที่ตำบลบาราเฮาะ เข้าร่วมกิจกรรม โดยที่ประชุมได้มีมติแต่งตั้งคณะกรรมการกองทุนซะกาตระดับตำบลบาราเฮาะ เพื่อขับเคลื่อนกิจกรรมดังกล่าว

ต่อมาในวันที่ 10 มิถุนายน 2567 ร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดสตูล (องค์กรพันธมิตร)  ร่วมผลักดันกองทุนซะกาตในพื้นที่จังหวัดสตูล หวังช่วยกลุ่มเปราะบางในพื้นที่บรรเทาปัญหาความยากจนในพื้นที่ จัดเวที ต่อยอดกิจกรรมเมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2567 “เวทีสร้างความเข้าใจแนวทางการขับเคลื่อนกองทุนซะกาต เพื่อการพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืน จังหวัดสตูล” โดยมีอาจารย์กอดาษ เจะดะ ฝ่ายซะกาตและทรัพย์สิน กรรมการอิสลามประจำจังหวัดสตูล เป็นวิทยากรบรรยาย “ระบบการจัดการกองทุนซะกาต” ทั้งนี้อิหม่ามและกรรมการมัสยิดในเขตอำเภอควนโดน จังหวัดสตูล ที่เข้าร่วมกิจกรรมจำนวน 8 มัสยิด ได้มีมติแต่งตั้งคณะทำงานเพื่อขับเคลื่อนกองทุนซะกาตในพื้นที่ โดยมีสำนักงานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดสตูลและมูลนิธิสร้างสุขมุสลิมไทย สสม. เป็นพี่เลี้ยง หรือที่ปรึกษา ในการสนับสนุนการดำเนินกิจกรรม

โครงการพัฒนาผู้ประกอบการร้านอาหารมุสลิมเพื่อสุขภาวะ

สุทธิดา วิชัยชาติ ผู้รับผิดชอบโครงการฯ

มูลนิธิสร้างสุขมุสลิมไทย สสม. ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดเชียงใหม่และกลุ่มงานอนามัยสิ่งแวดล้อมและอาชีวอนามัย สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ จัดอบรมหลักสูตร “การสุขาภิบาลอาหารและมาตรฐานอาหารมุสลิมปลอดภัย (MFS)” ณ ห้องประชุมชั้น 2 อาคารดารุตตักวา อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อวันอาทิตย์ที่ 30 มิถุนายน พ.ศ. 2567   โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาและยกระดับมาตรฐานร้านอาหารอิสลาม (หะลาล) ให้เป็นที่ยอมรับของผู้บริโภค ในการจัดอบรมครั้งนี้มีผู้สนใจเข้าร่วมอบรม 75 คน จากร้านอาหาร 58 ร้าน และได้รับเกียรติจากอิหม่ามสรกิจ  หะซัน ผู้ทรงคุณวุฒิสำนักจุฬาราชมนตรี เป็นประธานเปิดงาน

โครงการเครือข่ายลดการพึ่งพิงยาสูบ

นายไฟซอล สะเหล็ม ผู้รับผิดชอบโครงการฯ

ตลอดเดือนพฤษภาคม มิถุนายน และ กรกฎาคม 2567 2567 โครงการเครือข่ายลดการพึ่งพิงยาสูบ และคณะทำงาน เข้าพบผู้บริหารองค์กรในพื้นที่ เพื่อประสานความร่วมมือในการขับเคลื่อนโครงการเครือข่ายลดการพึ่งพิงยาสูบ ซึ่งทางพื้นที่พร้อมที่จะร่วมเป็นพันธมิตรในการขับเคลื่อนโครงการฯให้บรรลุตามเป้าหมายที่วางไว้ และลงพื้นที่เยี่ยมชุมชนที่ร่วมโครงการฯเพื่อแลกเปลี่ยนทำความเข้าใจสู่การสร้างรายได้ สร้างสังคมปลอดยาสูบ โดย

วันที่ 9 พฤษภาคม 2567 นายไฟซอล สะเหล็ม ผู้รับผิดชอบโครงการฯ พร้อมนายสมเดช หวังแอ แกนนำกลุ่มส่งเสริมอาชีพทดแทนยาสูบตำบลนาหมอศรี อำเภอนาทวี ได้ร่วมแลกเปลี่ยนเพื่อประสานความร่วมมือในการขับเคลื่อนโครงการฯ กับ นายสหรัฐ ทองเพิ่ม หัวหน้าสำนักปลัด องค์การบริหารส่วนตำบลนาหมอศรี อำเภอนาทวี จังหวัดสงขลา   10-3

วันที่ 13 พฤษภาคม 2567 ผู้รับผิดชอบโครงการฯ พร้อมนายไสโฝด หลีขะหรี แกนนำขับเคลื่อนโครงการชุมชนบ้านแคเหนือ ได้ร่วมแลกเปลี่ยนเพื่อประสานความร่วมมือกับ นายปรเมศวร์ เอียดเพ็ชร นิติกรปฏิบัติการสำนักปลัด และนางสาวดารุณีย์ ภัยชำนาญ นักพัฒนาชุมชนชำนาญการ องค์การบริหารส่วนตำบลแค อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา 

วันที่ 5 มิถุนายน 2567 คณะทำงานโครงการฯ เข้าพบนางเกศกนก ชูเกลี้ยง พัฒนาการอำเภอ และ นางสาวภัทราภรณ์ แก้วบัว นักวิชาการพัฒนาชุมชนปฏิบัติการ สำนักงานพัฒนาชุมชน อำเภอกงหรา จังหวัดพัทลุง เพื่อประสานความร่วมมือในการขับเคลื่อนโครงการ โดย พัฒนาชุมชนอำเภอกงหรา พร้อมเป็นภาคีร่วมขับเคลื่อนโครงการฯ และสนับสนุนการพัฒนาอาชีพทดแทนการปลูกยาสูบ และการหาช่องทางตลาด พร้อมแนะนำหน่วยงานที่สามารถสนับสนุนโครงการฯได้ เช่น นวัตกรออกแบบผลิตภัณฑ์ จาก มหาวิทยาลัยทักษิณ พัทลุง เป็นต้น 

นอกจากนี้ยังได้เข้าพบนายหร้อหมาน โต๊ะราหนี อิหม่ามมัสยิดสามัคคีมุสลิม เพื่อขออนุญาตใช้สถานที่หน้าลานมัสยิดในการจัดกิจกรรมตลาดพืชทดแทนยาสูบ ท่านอิหม่ามยินดีให้ใช้สถานที่จัดกิจกรรมดังกล่าว โดยจะมีการประชุมอย่างชัดเจนอีกครั้ง 

ทั้งนี้ นางสาวย่ำหวัน จันทร์นูน แกนนำลดการพึ่งพิงยาสูบ ชุมชนบ้านคลองหวะหลัง (นกรำ) เป็นผู้ประสานงานนำมาสู่ความร่วมมือในครั้งนี้

วันที่ 11 – 12 มิถุนายน 2567 ศ.ดร.อิศรา ศานติศาสน์ ประธานมูลนิธิสร้างสุขมุสลิมไทย สสม. และคณะเจ้าหน้าที่ สสม. ลงพื้นที่พบปะเยี่ยมเยียนเครือข่ายชุมชนสดใสไร้ยาสูบ (ลดการพึ่งพิงยาสูบ) อำเภอกงหรา จังหวัดพัทลุง มีนายประจบ เขียดหนู เกษตรอำเภอกงหรา นางเกศกนก ชูเกลี้ยง พัฒนาการอำเภอ และ นางสาวภัทราภรณ์ แก้วบัว นักวิชาการพัฒนาชุมชนปฏิบัติการ สำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอกงหรา จังหวัดพัทลุง และแกนนำเครือข่ายชุมชนสดใสไร้ยาสูบในพื้นที่ ร่วมพบปะแลกเปลี่ยนประสบการณ์ รวมทั้งหาแนวทางในการพัฒนาต่อยอดโครงการฯ 

วันที่ 30 มิถุนายน 2567 ร่วมกับ สหายเสื้อบอลวินเทจภาคใต้ จัดกิจกรรม “สหายเสื้อบอลวินเทจต้านบุหรี่ไฟฟ้า ระดับภาคใต้  ครั้งที่ 6” ณ สนาม Fatoni Stadium อำเภอเมืองปัตตานี จังหวัดปัตตานี เพื่อรณรงค์ให้ประชาชนเลิกสูบบุหรี่ เลิกสูบใบจากยาเส้น และที่สำคัญก็คือไม่เอาบุหรี่ไฟฟ้า โดย นายเศรษฐ อัลยุฟรี นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดปัตตานี กล่าวเปิดงานและเยี่ยมชมภายในงาน  ที่จัดกิจกรรมนำเสื้อฟุตบอลวินเทจ (ย้อนยุค) มูลค่ารวมหลักล้านมาโชว์ มีการแข่งขันฟุตบอลสานสัมพันธ์ต้านบุหรี่ไฟฟ้า จัดบูทสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับพิษภัยของการสูบบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้า อีกทั้งมีเน็ตไอดอลที่มีชื่อเสียงในสามจังหวัดชายแดนใต้มาร่วมสร้างกระแสต้านบุหรี่ไฟฟ้าอีกด้วย 

วันที่ 23 กรกฎาคม 2567 นายไฟซอล สะเหล็ม หัวหน้าโครงการฯ ลงพื้นที่ชี้แจงทำความเข้าใจโครงการกับนางสาวลำแข อุทัยสุริ พัฒนาการอำเภอนาทวี และนายซุกรี จาลง พัฒนากรตำบลนาหมอศรี ร่วมแลกเปลี่ยนในการร่วมขับเคลื่อนโครงการ ซึ่งทางพัฒนาชุมชนอำเภอนาทวี ยินดีร่วมขับเคลื่อนกิจกรรมในการพัฒนาชุมชนร่วมกับ สสม. และแกนนำในพื้นที่

ต่อมาใน เวลา 14.00 น. ได้มีโอกาสเข้าร่วมประชุมสภาเวทีประชาธิปไตย ตำบลนาหมอศรี อำเภอนาทวี จังหวัดสงขลา ได้นำเสนอผลการดำเนินโครงการในพื้นที่ที่ผ่านมา และได้ชี้แจงแนวทางในการขับเคลื่อนโครงการต่อไป นอกจากนี้นายเหตุ เหร็มอะ กำนันตำบลนาหมอศรี ได้เล่าประสบการณ์โดยตรงที่สามารถเลิกสูบยาสูบได้ด้วยตนเอง คือ "หมอบอกว่าปอดเกือบพัง เข้าใกล้จะเป็นวัณโรค จากนั้นก็เลิกสูบได้" และยินดีพร้อมร่วมขับเคลื่อนโครงการกับ สสม.

โครงการเครือข่ายเลิกบุหรี่เริ่มที่บ้าน 

โครงการเครือข่ายเลิกบุหรี่เริ่มที่บ้าน โดยมูลนิธิสร้างสุขมุสลิมไทย สสม. หลังจากการลงพื้นที่ชุมชนเพื่อประสานและทำความเข้าใจในเรื่องการดำเนินกิจกรรมร่วมกับเครือข่ายและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเรียบร้อยแล้ว ได้ดำเนินกิจกรรมตามแผนที่กำหนดไว้ ดังนี้ 

เมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2567 คณะทำงานเครือข่ายเลิกบุหรี่เริ่มที่บ้าน เข้าพบ นางวรัญญา รัชกุล ผอ.รพ.สต. บ้านบาโงยบาแด ตำบลสะเตงนอก อำเภอเมือง จังหวัดยะลา เพื่อขอคำปรึกษาและขอความร่วมมือในการรณรงค์ "เลิกบุหรี่บ้านละคน" ในชุมชน พร้อมขับเคลื่อนกิจกรรมรณรงค์ต่าง ๆ ในพื้นที่ โดยเฉพาะเรื่องของพิษภัยจากบุหรี่ บุหรี่ไฟฟ้า และยาเส้น เพื่อให้รู้ทันการตลาดของอุตสาหกรรมยาสูบ พร้อมให้เครือข่ายอาสาสมัครพาเลิกบุหรี่ในพื้นที่ ส่งต่อข้อมูลให้แก่ภรรยาและสมาชิกอื่น ๆ ในครอบครัว เพื่อให้เกิดการเฝ้าระวัง ไม่ให้พิษภัยของบุหรี่ทุกชนิด เข้าทำร้ายสมาชิกในครอบครัว

วันที่ 13 มิถุนายน 2567 ทีมงานเครือข่ายเลิกบุหรี่เริ่มที่บ้าน จัดกระบวนการเลิกบุหรี่เริ่มที่บ้านผ่านสมาชิกในครอบครัว (ภรรยาและบุตร) พร้อมนายไอโหยบ แกสมาน แกนนำอาสาสมัครพาเลิกบุหรี่และผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน เป็นผู้ประสานงานร่วมวางแผนการจัดกิจกรรม ณ โรงเรียนบ้านควนโต๊ะเหลง ตำบลควนโดน อำเภอควนโดน จังหวัดสตูล เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดนักสูบหน้าใหม่ ให้นักเรียนเกิดความตระหนักถึงอันตรายและพิษภัยที่เกิดจากการสูบบุหรี่ บุหรี่ไฟฟ้า และยาเส้น รวมถึงทำความเข้าใจเกี่ยวกับปัญหาของบุหรี่มือสองและบุหรี่มือสาม เพื่อนำกลับไปบอกเล่าให้สมาชิกในครอบครัวได้เข้าใจถึงอันตรายจากบุหรี่ทุกชนิดได้  โดยมี นางฮาสาน๊ะ ยีปันจอ ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านควนโต๊ะเหลง และคณะครูเข้าร่วมกิจกรรมดังกล่าว และ นางธิดา เหมือนพะวงศ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลควนโดน กล่าวเปิดงาน 

วันที่ 27 มิถุนายน 2567 ทีมงานเครือข่ายเลิกบุหรี่เริ่มที่บ้าน จัดกิจกรรมอบรมพัฒนาศักยภาพแกนนำครูและตัวแทนนักเรียนในกลุ่มโรงเรียนเอกชนระดับมัธยม ในพื้นที่จังหวัดยะลาที่เข้าร่วมเป็นเครือข่ายเลิกบุหรี่เริ่มที่บ้าน จำนวน 11 โรงเรียน กล่าวต้อนรับโดย รศ.ดร.อิสมาแอ อาลี รองประธานมูลนิธิสร้างสุขมุสลิมไทย สสม. นายอามีน กะดะแซ ผู้อำนวยการสำนักงานการศึกษาเอกชนจังหวัดยะลา เป็นประธานในพิธีเปิดการอบรม ณ ห้องประชุมมูลนิธิศูนย์กลางอิสลามเพื่อการพัฒนา จังหวัดยะลา กิจกรรมเป็นการให้ความรู้เกี่ยวกับข้อกฎหมายของบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้า โดยนางสาวอิกบาร์น ราซีด ตำแหน่ง นักวิชาการสาธารณสุขชำนาญการ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนราธิวาส พร้อมผู้ช่วยวิทยากร 2 ท่าน คือ นางสาววัลภา มะเอียด รอง ผอ.โรงเรียนนราธิวาส นางสาวมีซานี อูเซ็ง โรงเรียนบ้านบูเก๊ะตาโมง มิตรภาพที่ 128 ร่วมให้ข้อมูลการดำเนินงานให้โรงเรียนเป็นเขตปลอดบุหรี่ ต่อมา พญ.นูรอน อับดุลลี นายแพทย์ชำนาญการพิเศษ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านจิตเวชศาสตร์ ประจำโรงพยาบาลศูนย์ยะลา บรรยายให้ความรู้เกี่ยวกับพิษภัยและอันตรายจากการสูบบุหรี่ บุหรี่ไฟฟ้าและยาเส้น รวมถึงวิธีการบอกลาบุหรี่ทุกชนิด เพื่อให้นักเรียนตระหนักถึงอันตรายจากพิษภัยที่เกิดจากการสูบบุหรี่ทุกชนิด รวมไปถึงอันตรายจากบุหรี่มือสองและบุหรี่มือสาม เพื่อการป้องกันไม่ให้เกิดนักสูบหน้าใหม่ 

วันที่ 13 กรกฎาคม 2567 ทีมงานเครือข่ายเลิกบุหรี่เริ่มที่บ้าน จัดกระบวนการเลิกบุหรี่เริ่มที่บ้านผ่านสมาชิกในครอบครัว (ภรรยาและบุตร) ร่วมกับชุมชนบ้านบุดีฮีเลย์ โดยมีนายอฮามัด กาลูปัง อีหม่ามประจำมัสยิดกำปงดาระและแกนนำอาสาสมัครพาเลิกบุหรี่ กล่าวเปิดกิจกรรม และมีนายสะอารี มะโย๊ะ ผู้ใหญ่บ้านบ้านบุดีฮีเลย์ ให้การกล่าวต้อนรับ ณ อาคารที่ทำการผู้ใหญ่บ้าน ตำบลบุดี อำเภอเมือง จังหวัดยะลา โดยกิจกรรมต้องการที่จะกระตุ้นให้สมาชิกในชุมชนเกิดความตระหนักและเห็นความสำคัญถึงอันตรายและพิษภัยที่เกิดจากการสูบบุหรี่ บุหรี่ไฟฟ้า และยาเส้น รวมถึงปัญหาของบุหรี่มือสองและบุหรี่มือสาม และเป็นการป้องกันไม่ให้เกิดนักสูบหน้าใหม่ ทั้งนี้ นางสาวสัลวา หมัมเหม แพทย์แผนไทย โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบ้านโกตาบารู เป็นวิทยากรให้ความรู้ถึงพิษภัยของการสูบบุหรี่ทุกชนิด รวมถึงบอกเล่าการใช้สมุนไพรประจำบ้านในการเป็นตัวช่วยของการเลิกบุหรี่

วันที่ 17 กรกฎาคม 2567 นางสาวกัลยาณา วาจิ รองผู้จัดการแผนงานฯ และผู้รับผิดชอบโครงการฯ พร้อมคณะ ลงพื้นที่ไปยัง รพ.สต. กระเสาะ อ.มายอ จ.ปัตตานี ซึ่งมี นายฮัมดี เปาะซา พยาบาลวิชาชีพชำนาญการ ให้การต้อนรับแทนผู้อำนวยการ รพ.สต. การลงพื้นที่เพื่อร่วมกันวางแผนการดำเนินงานโครงการ การขับเคลื่อนกิจกรรมต่าง ๆ เช่น การบรรยายให้ความรู้ ให้รู้เท่าทันความเคลื่อนไหวของอุตสาหกรรมยาสูบ โดยเฉพาะอันตรายจากบุหรี่ บุหรี่ไฟฟ้า และยาเส้น เพื่อให้เครือข่ายอาสาสมัครพาเลิกบุหรี่ในพื้นที่ ส่งต่อข้อมูลไปยังภรรยาและบุตร รวมถึงสมาชิกอื่นในครอบครัว เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชน และพร้อมดำเนินโครงการให้ครอบคลุมทั้งตำบล ให้สมาชิกในชุมชนเกิดความตระหนักและเห็นถึงอันตรายและพิษภัยที่เกิดจากการสูบบุหรี่ทุกชนิด รวมถึงปัญหาบุหรี่มือสองและบุหรี่มือสาม เป็นการป้องกันไม่ให้เกิดนักสูบหน้าใหม่ และเป็นที่ปรึกษาสำหรับผู้ที่ต้องการจะเลิกบุหรี่อย่างจริงจัง

วันที่ 25 กรกฎาคม 2567 ทีมงานเครือข่ายเลิกบุหรี่เริ่มที่บ้าน จัดกิจกรรมอบรมพัฒนาศักยภาพแกนนำให้แก่ครูและตัวแทนนักเรียนในกลุ่มโรงเรียนมัธยมเอกชน กลุ่มเป้าหมายเป็นเครือข่ายเลิกบุหรี่เริ่มที่บ้าน จำนวน 12 โรงเรียน แกนนำครู 12 คน และแกนนำนักเรียน 48 คน รวมทั้งสิ้น 60 คน ร่วมกิจกรรม ณ โรงแรมปาร์คอินทาวน์ จังหวัดปัตตานี โดยนางสาวเปรมจิต หงส์อำไพ รองนายสาธารณสุขจังหวัดปัตตานี เป็นประธานในพิธีเปิดการอบรม กิจกรรมให้ความรู้ข้อกฎหมายของบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้า และอันตรายจากการสูบบุหรี่ บุหรี่ไฟฟ้า และยาเส้น โดยนางสาว ศรันย์พัช ชีระจินต์ ผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการควบคุมยาสูบจังหวัดปัตตานี และนางสาวต่วนนูรมา หะมะ นักวิชาการสาธารณสุขชำนาญการ และการบรรยายให้ความรู้เกี่ยวกับพิษภัยและอันตรายจากการสูบบุหรี่ทุกชนิด พร้อมให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรม ระดมสมองช่วยกันหามาตรการที่จะดำเนินการในโรงเรียนของตนเอง โดย นางสาวรุสนา จิตกาหลง นักวิชาการสาธารณสุขชำนาญการ และนางสาวต่วนนูรมา หะมะ นักวิชาการสาธารณสุขชำนาญการ ทั้งนี้ทางโรงเรียนที่เข้าร่วมกิจกรรมยินดีร่วมรณรงค์ให้เกิดการเปลี่ยนแปลงและช่วยป้องกันนักสูบหน้าใหม่ที่อาจจะเกิดขึ้นในโรงเรียนได้ และพร้อมเข้าร่วมเป็นเครือข่ายในโครงการเลิกบุหรี่เริ่มที่บ้าน          

โครงการพัฒนามาตรฐานมัสยิดปลอดบุหรี่ 

มูลนิธิสร้างสุขมุสลิมไทย มีการขับเคลื่อนมัสยิดปลอดบุหรี่ทั้งหมดเป็นจำนวน 34 มัสยิด ใน 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ (ยะลา ปัตตานี นราธิวาส สงขลา และสตูล)

การดำเนินงานให้มัสยิดเป็นพื้นที่ปลอดบุหรี่ที่มีมาตรฐานเดียวกัน เริ่มต้นจากการถ่ายทอดความรู้ที่เกี่ยวกับอันตรายของบุหรี่ และจัดกิจกรรมรณรงค์ให้มัสยิดเป็นพื้นที่ปลอดบุหรี่อย่างถาวร หลักเกณฑ์ที่ทุกมัสยิดที่เข้าร่วมจะต้องทำ คือ พื้นที่รอบมัสยิดต้องมีพื้นที่ปลอดบุหรี่ไม่น้อยกว่า 10 เมตรและต้องมีมาตรการควบคุมยาสูบเป็นลายลักษณ์อักษร รวมถึงมีกระบวนการช่วยเลิกบุหรี่ เช่น เชิญชวนให้เลิกบุหรี่ การให้คำปรึกษา ที่สำคัญจะต้องมีการเทศนาทุกวันศุกร์เรื่องการต้านสิ่งมึนเมา (คุฏบะฮ์ลาคอมรฺ) หรือเทศนาต้านบุหรี่และยาสูบตามหลักศาสนา และต้องส่งเสริมเรื่องการมีมุมให้ความรู้พิษภัยบุหรี่โดยจัดนิทรรศการในมัสยิด โดย

เดือนมีนาคม มัสยิดบ้านโผลง (บ้านปะลง) อ.สุไหงปาดี จ.นราธิวาส นำโดย นายยาการียา ตาเหตาแซ แกนนำในพื้นที่

วันที่ 9 มีนาคม 2567 เริ่มจัดกิจกรรมตามแผนเพื่อให้มัสยิดเป็นเขตปลอดบุหรี่ที่มีมาตรฐานอย่างจริงจัง  -กิจกรรมให้ความรู้เกี่ยวกับพิษภัยของบุหรี่ -กิจกรรมรณรงค์ไม่สูบบุหรี่ในบริเวณมัสยิด 

วันที่ 22 มีนาคม 2567 กิจกรรมเพิ่มเติมกับโรงเรียนบ้านโผลง ที่อยู่ติดกันกับมัสยิด ให้ความรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับพิษภัยที่เกิดจากการสูบบุหรี่กับกลุ่มนักเรียน ด้วยเช่นกัน เพื่อป้องกันนักสูบหน้าใหม่ในชุมชน 

วันที่ 30 พฤษภาคม 2567 จัดประชุมรายงานความก้าวหน้าเกี่ยวกับการดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ ในพื้นที่ เพื่อให้มัสยิดเป็นเขตปลอดบุหรี่ เพื่อให้สัปบุรุษได้เกิดความเข้าใจและมีส่วนร่วมอย่างต่อเนื่อง

วันที่ 23 มีนาคม 2567 แกนนำมัสยิดกรงปีนัง อ.กรงปีนัง จ.ยะลา จัดกิจกรรมรอมฏอนสัมพันธ์ ด้วยการร่วมรณรงค์ ลด ละ เลิก สูบบุหรี่ ในบริเวณมัสยิดช่วงละศีลอด และเชิญชวนให้เลิกสูบบุหรี่ โดยเริ่มตั่งแต่เดือนรอมดอน เป็นต้นไป




สุขสาระออนไลน์ ฉบับที่ 234
เดือนสิงหาคม 2567
มูลนิธิสร้างสุขมุสลิมไทย (สสม.)
www.muslim4health.or.th

ความคิดเห็น