พาราเซตามอล เป็นยาแก้ปวดลดไข้ที่ใช้กันอย่างแพร่หลาย เพราะหาซื้อได้ง่าย และมักจะมีติดไว้เป็นยาสามัญประจำบ้าน เป็นยาที่ค่อนข้างปลอดภัยเมื่อใช้อย่างถูกวิธี
ถึงแม้ว่ายาพาราฯ จะปลอดภัย แต่การใช้ยาที่ไม่ถูกต้องหรือกินยามากจนเกินความจำเป็นก็จะส่งผลเสียต่อการทำงานของตับ อาจนำไปสู่ภาวะการเกิดตับอักเสบเฉียบพลัน และเกิดภาวะตับวาย ถึงขั้นเสียชีวิตได้
ข้อห้าม/ข้อควรระวังในการใช้ยาพาราเซตามอล
- ควรใช้ยาพาราเซตามอลตามคำแนะนำของผู้เชี่ยวชาญ โดยควรกินยาพาราเซตามอลขนาด 500 มิลลิกรัม 1-2 เม็ด/ครั้ง ทิ้งระยะห่างครั้งละ 4-6 ชั่วโมง และไม่ควรกินยามากกว่า 8 เม็ด/วัน (4,000 มิลลิกรัม)
- ห้ามกินยาร่วมกับเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ เพราะจะยิ่งเพิ่มผลเสียให้กับตับ
- ผู้ป่วยที่มีสภาวะการทำงานของตับผิดปกติ หรือมีโรคตับควรปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญหรือเภสัชกรก่อนการใช้ยาเพื่อปรับขนาดตัวยาที่ใช้อย่างเหมาะสม
- ห้ามใช้ยาพาราเซตามอลกับผู้ที่เคยมีประวัติแพ้ยาตัวนี้ โดยอาการแพ้ยาพาราเซตามอลที่สังเกตได้ คือ มีผื่นขึ้นตามตัว มีอาการบวมที่หน้าและริมฝีปาก แน่นหน้าอก หายใจไม่ออก หรือหากมีอาการเหล่านี้หลังกินยาพาราเซตามอลควรเข้าพบแพทย์ทันที
- ตรวจสอบวันหมดอายุของยาก่อนใช้งาน และห้ามใช้ยาหมดอายุ
วิธีเก็บรักษา ยาพาราเซตามอล
- ควรเก็บยาพาราเซตามอลในภาชนะบรรจุภัณฑ์เดิมที่บรรจุมาด้วยการปิดให้สนิท หรือหากเป็นตัวยาแบบแผงควรระมัดระวังไม่ให้เกิดรอยฉีกขาด
- เก็บยาให้พ้นแสงแดดและความร้อน หลีกเลี่ยงการเก็บยาไว้ในที่ที่อุณหภูมิสูงกว่า 30 องศาเซลเซียส
- เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยงในบ้าน
- หลีกเลี่ยงการเก็บยาไว้ในที่เปียกหรือชื้น เช่น ในห้องน้ำ อ่างล้างมือ อ่างล้างหน้า เนื่องจากความชื้นอาจเป็นสาเหตุให้ตัวยาเสื่อมคุณภาพได้
นอกจากนี้ยังต้องระวังการใช้ยาซ้ำซ้อนเมื่อใช้ยาร่วมกับยาสูตรผสมที่มีพาราเซตามอลเป็นส่วนประกอบ ได้แก่ ยาสูตรผสมบรรเทาอาการของโรคหวัด ยาคลายกล้ามเนื้อ เพราะอาจได้รับพาราเซตามอลเกินขนาด 4,000 มิลลิกรัมต่อวัน โดยไม่ได้ตั้งใจ ซึ่งการได้รับยาพาราเซตามอลเกินขนาดจะส่งพิษต่อตับ อาจมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้องบริเวณด้านขวาบน มีตับโต กดเจ็บ ถ้าตรวจเลือดอาจพบค่าที่บ่งว่าการทำงานของตับผิดปกติ ถ้าตับถูกทำลายมากขึ้น อาจพบอาการของตับวายเฉียบพลัน ได้แก่ ตัวเหลือง ตาเหลือง สับสน ซึม ถ้าไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงทีอาจเสียชีวิตได้
ดังนั้นก่อนรับประทานยาทุกชนิดควรอ่านฉลากให้ละเอียด หรือถ้าไม่แน่ใจให้ปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนทุกครั้ง
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น