โครงการพัฒนาผู้ประกอบการร้านอาหารมุสลิมเพื่อสุขภาวะ

สุทธิดา วิชัยชาติ

การดำเนินกิจกรรมในโครงการพัฒนาผู้ประกอบการร้านอาหารมุสลิมเพื่อสุขภาวะ เริ่มต้นจากการสร้างมาตรฐานสำหรับร้านอาหารมุสลิมขึ้น โดยคณะทำงานที่มีความรู้และประสบการณ์การทำงานด้านการตรวจมาตรฐานอาหารหะลาลมายาวนาน นอกจากนี้ยังมีผู้ชำนาญงานด้านการสุขาภิบาลอาหาร จากสาธารณสุขจังหวัด มาร่วมเป็นคณะทำงานยกร่างและพัฒนามาตรฐาน ระยะเวลาดำเนินงานประมาณ 3-4 เดือน

มาตรฐานอาหารมุสลิมปลอดภัย Muslim Food Safety (MFS) เป็นมาตรฐานที่ถูกออกแบบโดยใช้ฐานของหะลาลันตอยยีบัน ซึ่งมาจากบทบัญญัติที่ศาสนาอิสลามกำหนด ไม่ว่าจะเป็นการเลือกวัตถุดิบที่หะลาล สะอาดและความปลอดภัย เป็นต้น ซึ่งเป็นกรอบการดำเนินชีวิตของมุสลิมตามหลักการศาสนา นำมาผนวกกับหลักสุขาภิบาลอาหารของสาธารณสุข ซึ่งเป็นกฎหมายที่บังคับใช้สำหรับสถานประกอบการร้านอาหาร เนื้อหาสาระของมาตรฐานอาหารมุสลิมปลอดภัย ได้กำหนดกฎเกณฑ์ทุกขั้นตอนกระบวนการ ตั้งแต่กระบวนการเลือกซื้อวัตถุดิบ การเตรียมและปรุงอาหาร สถานที่รับประทานอาหาร ไปจนถึงสถานที่ชำระล้างและการจัดการขยะมูลฝอย

เมื่อเนื้อหาครบถ้วนจึงได้นำไปเสนอให้ผู้ทรงคุณวุฒิพิจารณากลั่นกรองและแนะนำปรับปรุงแก้ไขเนื้อหา และร่างแบบเครื่องหมายหรือตราสัญลักษณ์ Muslim Food Safety ส่งให้ทีมงานสื่อออกแบบให้สวยงามและมีเอกลักษณ์ ขั้นตอนต่อมาได้ดำเนินการจดลิขสิทธิ์กับกรมทรัพย์สินทางปัญญา เพื่อให้เป็นตราสัญลักษณ์ที่กฎหมายรับรอง โดยมูลนิธิสร้างสุขมุสลิมไทย สสม. เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ตราสัญลักษณ์ Muslim Food Safety (MFS) ตามกฎหมาย

ในกระบวนการของการพัฒนาร้านอาหารมุสลิมให้ได้มาตรฐานนั้น ร้านอาหารที่เข้าร่วมโครงการจะต้องผ่านการอบรมหลักสูตรมาตรฐานอาหารมุสลิมปลอดภัยและการสุขาภิบาลอาหาร การดำเนินโครงการในระยะนี้ได้กำหนดพื้นที่ดำเนินโครงการนำร่อง 3 พื้นที่ คือ จังหวัดเชียงใหม่ จังหวัดสงขลา และกรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นเมืองหลักที่สำคัญและเป็นจุดหมายปลายทางของนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างประเทศ 

จังหวัดเชียงใหม่เป็นเวทีแรกของการอบรม การดำเนินงานได้รับความร่วมมือจากสำนักงานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดเชียงใหม่ (กอจ.ชม.) และสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ (สสจ.ชม.) เป็นอย่างดี  ผู้ประสานงานได้ประชาสัมพันธ์เชิญชวนร้านจำหน่ายอาหารเข้าร่วมกิจกรรม มีการตอบรับเข้าร่วมจำนวน 58 ร้าน มีทั้งร้านอาหารขนาดใหญ่ ขนาดกลาง ขนาดเล็กไปจนถึงร้านอาหารประเภทแผงลอยริมบาทวิถี  ในการเข้าร่วมกิจกรรมอบรมครั้งนี้ ผู้ผ่านการทดสอบจะได้รับวุฒิบัตรผู้สัมผัสอาหาร และหลังจากนี้ร้านอาหารที่เข้าร่วมฯ จะได้รับการตรวจประเมินมาตรฐานอาหารมุสลิมปลอดภัย Muslim Food Safety (MFS) ตามประเภทของธุรกิจที่ดำเนินการในโอกาสต่อไป  

มาตรฐานอาหารมุสลิมปลอดภัย Muslim Food Safety (MFS) ถึงแม้ว่าจะเป็นชื่อใหม่ เครื่องหมายใหม่ แต่ร้านอาหารที่มีมาตรฐานหลาย ๆ แห่งได้ปฏิบัติเป็นกิจวัตรอยู่แล้ว ส่วนร้านอาหารที่ต้องการพัฒนาให้ได้มาตรฐาน อาจจะต้องใช้เวลาในการปรับปรุงกิจการสักระยะหนึ่ง โดยเฉพาะบุคลากรที่ต้องช่วยกันปรับปรุงเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมของร้านให้ได้มาตรฐาน เพื่อให้ผู้บริโภคมั่นใจว่าได้บริโภคอาหารที่หะลาล ปลอดภัยและมีคุณค่าทางโภชนาการอย่างแท้จริง  



สุขสาระออนไลน์ ฉบับที่ 236
เดือนตุลาคม 2567
มูลนิธิสร้างสุขมุสลิมไทย (สสม.)
www.muslim4health.or.th

ความคิดเห็น