กลุ่มอาการสตีเวนส์จอห์นสัน

“กลุ่มอาการสตีเวนส์จอห์นสัน” คือภาวะที่เกิดการอักเสบรุนแรงของผิวหนังและเยื่อเมือกบุผิวที่พบได้ไม่บ่อย โดยอาจเกิดจากการติดเชื้อหรือการตอบสนองของร่างกายต่อยาบางชนิด

รายงานครั้งแรกในปี ค.ศ.1922 โดยกุมารแพทย์ชาวอเมริกัน A.M. Steven และ S.G. Johnson พบเด็กชายสองคนอายุ 7 ขวบและ 8 ขวบ มีอาการไข้ แผลเต็มปาก ตาอักเสบอย่างรุนแรง และผื่นตามตัว ซึ่งต่อมาได้ตั้งชื่อโรคตามกุมารแพทย์สองท่านนี้

ในระยะแรกผู้ป่วยอาจมีไข้และหนาวสั่น ร่วมกับมีอาการไอ เจ็บคอ ปวดหัว ปวดตามร่างกาย แสบตา หรือรู้สึกอ่อนเพลีย จากนั้นภายใน 2-3 วันจะมีผื่นตุ่มขึ้นที่ผิวหนังและเยื่อบุผิว ผื่นที่ผิวหนังเริ่มที่หน้า คอ คาง ลำตัว แล้วลามไปทั่วร่างกาย เริ่มแรกมีลักษณะเป็นผื่นแดง ต่อมากลายเป็นตุ่มน้ำพุพองและลอกออก ผื่นมักจะไม่คัน เป็นอยู่นาน 2-6 สัปดาห์ ผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงอาจมีอาการแทรกซ้อนของอวัยวะภายใน เช่น มีแผลในทางเดินอาหาร ตับอักเสบ และอาจทำให้เสียชีวิตได้

ปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุของ กลุ่มอาการสตีเวนส์จอห์นสันอย่างแน่ชัด แต่เชื่อว่าการติดเชื้อและการใช้ยาบางชนิดอาจเป็นปัจจัยกระตุ้นให้เกิดโรคนี้ได้ จึงไม่มีทางทราบได้ว่าคุณอาจมีปฏิกิริยาไม่พึงประสงค์จากยานั้น ๆ ก่อนที่จะใช้ยา หากตรวจพบว่ามียาตัวใดที่กระตุ้นให้เกิดอาการดังกล่าว คุณควรหลีกเลี่ยงยาตัวนั้นหรือยาที่เกี่ยวข้องอีกครั้ง

ยาที่มักทำให้เกิดการแพ้ทางผิวหนังอย่างรุนแรงในประเทศไทย ได้แก่
  1. ยารักษาโรคเกาต์เช่น allopurinol
  2. ยากันชัก เช่น carbamazepine, phenobarbital, phenytoin และlamotrigine
  3. ยาแก้ปวด/ต้านการอักเสบกลุ่ม NSAIDs เช่น ibuprofen, meloxicam, piroxicamและtenoxicam
  4. ยาต้านไวรัส HIV เช่น nevirapine, abacavir
  5. ยากลุ่มซัลฟา เช่น co-trimoxazole, sulfasalazine
  6. ยากลุ่มเพนนิซิลินเช่น amoxicillin
  7. ยารักษาวัณโรคเช่น rifampicin, isoniazid pyrazinamide, ethambutol
  8. ยาต้านเชื้อแบคทีเรียที่ใช้รักษาโรคเรื้อนชนิดต่าง ๆ Dapsone 

ข้อควรจำ หากได้รับยาใด ๆ และเริ่มมีอาการเจ็บคอ มีไข้ ปวดเมื่อยตามตัว ปวดศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียนปวดข้อหรือ มีผื่นผิวหนัง ผิดปกติ ให้หยุดยาทันที

หากคุณมีประวัติแพ้ยา ให้จดจำชื่อยา และอาการที่แพ้ยา แจ้งชื่อยาที่แพ้แก่แพทย์และเภสัชกรทุกครั้ง และ หลีกเลี่ยงการใช้ยาหรือกลุ่มยาที่เคยแพ้ 

กลุ่มอาการ สตีเวนส์จอห์นสัน อาจกลับมาเป็นซ้ำได้หากคุณได้รับยาชนิดเดียวกันที่ทำให้เกิดอาการดังกล่าวในครั้งแรก ในกรณีดังกล่าว อาการครั้งที่สองมักจะรุนแรงกว่าครั้งแรก


ข้อมูล
https://www.rama.mahidol.ac.th/ramapharmacy/th/drug%20allergy
http://www.med.nu.ac.th/patho/humanities/Group-58.pdf
https://www.pobpad.com/stevens-johnson-syndrome
https://my.clevelandclinic.org/health/diseases/17656-stevens-johnson-syndrome


สุขสาระออนไลน์ ฉบับที่ 236
เดือนตุลาคม 2567
มูลนิธิสร้างสุขมุสลิมไทย (สสม.)
www.muslim4health.or.th

ความคิดเห็น