ดื่มแอลกอฮอล์: อันตรายที่เริ่มต้นจากหยดแรก

การเฉลิมฉลองเทศกาลต่าง ๆ ไม่ว่าจะเทศกาลไหน เครื่องดื่มขาประจำคงหนีไม่พ้นเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่หลายคนเชื่อว่าเป็นตัวช่วยทำให้บรรยากาศสนุกมากขึ้น แม้ว่าผู้คนจะเลือกดื่มแตกต่างกัน บ้างก็ดื่มเพื่อเฉลิมฉลอง บ้างก็เพื่อเข้าสังคม และบางคนก็ดื่มเพื่อลืมความทุกข์ไปชั่วขณะ เป็นต้น แต่ในสมัยก่อนยังมีเหตุผลอีกข้อหนึ่งสำหรับการดื่มแอลกอฮอล์ นั่นก็คือ “การดื่มเพื่อสุขภาพ” ซึ่งงานวิจัยในอดีตบางชิ้นเคยระบุว่า การดื่มแอลกอฮอล์บางชนิดเช่นไวน์แดงในปริมาณที่พอเหมาะพอควร จะช่วยส่งเสริมให้สุขภาพดีขึ้นได้

แต่...ผลวิจัยดังกล่าวได้กลายเป็นอดีตไปเสียแล้ว เพราะปัจจุบันองค์การอนามัยโลก (WHO) ได้ออกมาประกาศชี้แจงใหม่แล้วว่า ไม่มีการบริโภคแอลกอฮอล์ในระดับใดเลย ที่จะปลอดภัยและปราศจากความเสี่ยงต่อสุขภาพอย่างแท้จริง

รายงานล่าสุดขององค์การอนามัยโลกระบุว่า การดื่มแอลกอฮอล์เป็นสาเหตุการตายของประชากรโลกถึง 2.6 ล้านรายต่อปี นอกจากนี้ แอลกอฮอล์ยังเป็นสาเหตุของโรคมะเร็งอย่างน้อย 7 ชนิด ซึ่งรวมถึงมะเร็งลำไส้และมะเร็งเต้านมด้วย

ผลการศึกษาโดยละเอียดขององค์การอนามัยโลกชี้ว่า แม้แต่การบริโภคแอลกอฮอล์ในระดับเล็กน้อยหรือปานกลาง ก็เสี่ยงจะทำให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพได้ โดยนิยามของการบริโภคแอลกอฮอล์ในระดับดังกล่าว คือการดื่มไวน์น้อยกว่า 1.5 ลิตร, การดื่มเบียร์ต่ำกว่า 3.5 ลิตร, และการดื่มสุราดีกรีแรงน้อยกว่า 450 มิลลิลิตรต่อครั้ง

คำแนะนำใหม่ขององค์การอนามัยโลกยังระบุว่า ไม่มีระดับปริมาณที่ปลอดภัยสำหรับการดื่มแอลกอฮอล์ ทั้งยังออกคำเตือนที่เน้นย้ำถึงพิษภัยของแอลกอฮอล์เป็นพิเศษว่า “ความเสี่ยงต่อสุขภาพของนักดื่มนั้นเริ่มต้นขึ้น ตั้งแต่หยดแรกของแอลกอฮอล์ทุกชนิดที่ดื่มลงไป”

รายงานขององค์การอนามัยโลกยังเผยว่า อัตราการบริโภคแอลกอฮอล์ต่อหัวของประชากรโลก โดยรวมแล้วลดลงเล็กน้อยจาก 5.7 ลิตร ในปี 2010 มาอยู่ที่ 5.5 ลิตร ในปี 2019 นอกจากนี้ยังพบว่า ผู้ชายเป็นประชากรส่วนใหญ่ของกลุ่มนักดื่มซึ่งบริโภคแอลกอฮอล์โดยเฉลี่ยถึงปีละ 8.2 ลิตร ในขณะที่ผู้หญิงดื่มแอลกอฮอล์โดยเฉลี่ยเพียงปีละ 2.2 ลิตรเท่านั้น

ดร.ทิม สต็อกเวลล์ นักวิทยาศาสตร์จากสถาบันวิจัยการใช้สารเสพติดแห่งแคนาดา ก็แสดงความเห็นในเชิงสนับสนุนคำเตือนขององค์การอนามัยโลกด้วย โดยเขาระบุว่า “แอลกอฮอล์นั้นเป็นสารเสพติดที่เสี่ยงก่ออันตรายต่อสุขภาพอย่างแท้จริง โดยความเสี่ยงนี้เกิดขึ้นตั้งแต่คุณเริ่มดื่มมัน”

ดร.สต็อกเวลล์ยังบอกว่า ความเชื่อดั้งเดิมที่ถือว่าการบริโภคแอลกอฮอล์ในระดับปานกลางดีต่อสุขภาพนั้น มีที่มาจากงานวิจัยคุณภาพแย่ ซึ่งใช้ระเบียบวิธีวิจัยไม่เหมาะสม ตั้งคำถามวิจัยได้ไม่ละเอียดพอ และนักวิจัยละเลยไม่สอบถามถึงพฤติกรรมการดื่มในอดีตของกลุ่มตัวอย่างด้วย ทำให้ปัจจัยสำคัญหลายประการที่กระทบต่อผลการศึกษาถูกมองข้ามไป

ข้อมูลอ้างอิง
https://www.bbc.com/thai/articles/cq5ejvw9wxxo



สุขสาระออนไลน์ ฉบับที่ 237
เดือนพฤศจิกายน 2567
มูลนิธิสร้างสุขมุสลิมไทย (สสม.)
www.muslim4health.or.th

ความคิดเห็น