ภูมิแพ้อาหารแฝง ไม่รุนแรง แต่เรื้อรัง

เรามักจะคุ้นชินกับคำว่า แพ้อาหาร ซึ่งการแพ้อาหารคือภาวะภูมิคุ้มกันไวเกินต่ออาหาร ซึ่งเกิดจากการที่ภูมิคุ้มกันมองว่าอาหารที่เคยกินได้มาก่อนกลายเป็นสิ่งแปลกปลอมและสร้างปฏิกิริยาภูมิคุ้มกันไวเกิน ซึ่งอาจเกิดขึ้นภายในเวลาไม่กี่นาที หรือหลายชั่วโมงหลังกินอาหารที่แพ้

ภูมิแพ้อาหารแฝง เป็นภาวะหรืออาการที่เกิดจากภูมิคุ้มกัน (Antibody) ชนิด IgG (Immunoglobulin G) ที่ร่างกายสร้างมาต่อต้านอาหารที่รับประทานเข้าไป ได้แก่ ผลิตภัณฑ์จากนม ไข่ แป้งสาลี ธัญพืช ถั่วต่าง ๆ รวมถึงยีสต์ เช่น เบเกอรี่ ขนมปัง อาหารหมักดอง น้ำส้มสายชู เป็นต้น ซึ่งเป็นคนละชนิดกับการแพ้อาหาร ส่วนมากอาการที่แสดงออกมาจะไม่รุนแรงและจะไม่เกิดในทันทีหลังรับประทานอาหาร แต่อาจเกิดหลังจากนั้นไปแล้วหลายชั่วโมงหรือข้ามวัน ทำให้หลายคนมองข้ามอาการของภูมิแพ้อาหารแฝงนี้ไป

ความต่างของอาการแพ้อาหาร และภูมิแพ้อาหารแฝง

  • อาการแพ้อาหาร:
    ส่วนใหญ่จะมีอาการแบบเฉียบพลัน หรือภายใน 2-4 ชั่วโมงหลังจากรับประทานอาหารบางอย่างเข้าไป แล้วร่างกายไปกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันให้ทำงานมากกว่าปกติจึงแสดงปฏิกิริยาออกมา เช่น เกิดผื่นคันตามร่างกาย ตาบวม ปากบวม หรือหากมีอาการรุนแรงอาจเกิดภาวะช็อก หายใจติดขัด จนถึงขั้นเสียชีวิตได้
  • อาการของภูมิแพ้อาหารแฝง:
    มักจะไม่แสดงอาการในทันที และมีอาการหลากหลาย เช่น ปวดศีรษะเรื้อรัง ปวดไมเกรน ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ และปวดตามข้อต่าง ๆ อ่อนเพลีย ท้องอืด จุกเสียด แน่นท้อง ท้องผูกสลับกับท้องเสีย เป็นสิวอักเสบตามร่างกาย เช่น ใบหน้า ตามตัว บริเวณหลัง และแขนขา

การรักษา

ภูมิแพ้อาหารแฝงไม่จำเป็นต้องใช้ยาแก้แพ้ แต่เพียงแค่ปรับพฤติกรรม หลีกเลี่ยงการทานอาหารที่แพ้ประมาณ 6 เดือนก็จะสามารถกลับมาทานอาหารชนิดนั้นได้โดยไม่ส่งผลกระทบต่อร่างกายอีก แต่ในทางกลับกัน หากกลับมาทานซ้ำ ๆ หรือทานมากจนเกินไป ก็อาจทำให้ร่างกายกลับมามีปฏิกิริยาต่อต้านอาหารชนิดนั้น ทำให้กลับมาเป็นภูมิแพ้อาหารแบบแฝงอีกได้

อย่างไรก็ตามในแต่ละคนจะไวต่อชนิดของอาหารที่แตกต่างกัน รู้ทันภูมิแพ้อาหารแฝงได้ง่าย ๆ แค่ตรวจเลือด ตรวจหาชนิดของอาหารที่กระตุ้นการแพ้ ซึ่งสามารถตรวจได้ถึง 222 ชนิด เมื่อเราทราบชนิดของอาหารที่แพ้ ก็จะสามารถควบคุมเฉพาะอาหารที่แพ้ได้ ไม่ต้องจำกัดอาหารแบบเดาสุ่ม

ข้อมูลอ้างอิง:




สุขสาระออนไลน์ ฉบับที่ 237
เดือนพฤศจิกายน 2567
มูลนิธิสร้างสุขมุสลิมไทย (สสม.)
www.muslim4health.or.th

ความคิดเห็น