เมื่อพูดถึงผีอำ หลายคนคงนึกถึงเรื่องไสยศาสตร์ ตามความเชื่อที่ว่าเกิดจากมีวิญญาณมานั่งกดทับตัวเราเวลานอนทำให้ลุกไม่ขึ้น ขยับตัวไม่ได้ เหมือนร่างกายเป็นอัมพาตทั้งตัวแบบเฉียบพลัน รวมไปถึงมีอาการหายใจลำบาก ซึ่งมักจะเป็นในสภาพครึ่งหลับครึ่งตื่น บางคนอาจฝันร้าย เห็นภาพหลอน ได้ยินเสียงปริศนา โดยอาการเหล่านี้จะมาแบบชั่วครั้งชั่วคราว แต่ละครั้งที่เป็นจะกินเวลาไม่นาน เมื่อตื่นขึ้นจากอาการผีอำ จะเกิดอาการตื่นกลัวจนตัวสั่น เหงื่อออกมาก รู้สึกไม่ปลอดภัย เพราะรู้สึกเหมือนตัวเองเพิ่งฟื้นจากความตาย
อาการผีอำ ไม่ได้เกิดจากภูตผีหรือพลังงานลี้ลับตามความเชื่อ แต่ผีอำเป็นอาการผิดปกติจากการนอนหลับชนิดหนึ่ง มีชื่อเรียกทางการแพทย์ว่า Sleep Paralysis
อาการผีอำ เกิดขึ้นได้ 2 ช่วงเวลา
- เกิดขึ้นช่วงใกล้หลับ (Predormital Sleep Paralysis):
อาการผีอำที่เกิดขึ้นช่วงเวลานี้ จะเป็นเพียงการขยับตัวไม่ได้ หรือพูดไม่ได้เท่านั้น เพราะเป็นช่วงที่ร่างกายอยู่ในภาวะผ่อนคลาย - เกิดขึ้นช่วงใกล้ตื่น (Postdormital Sleep Paralysis):
คนส่วนใหญ่มักจะเกิดผีอำในช่วงเวลานี้ จะมีอาการสะดุ้งตื่น รู้สึกตัวในขณะที่ช่วงหลับฝันยังไม่สิ้นสุดลง ประกอบกับมีอาการแน่นหน้าอก อึดอัด และขยับร่างกายไม่ได้ พูดไม่ได้ กินเวลาประมาณ 5-10 นาที
สาเหตุที่ทำให้เกิดอาการผีอำ
- การนอนหลับที่ไม่ดี นอนหลับไม่เพียงพอ หรือนอนไม่หลับเป็นระยะเวลานาน
- ปัญหาสุขภาพจิต เช่น ความเครียด หรือผู้ป่วยสภาวะอารมณ์สองขั้ว (Bipolar Disorder)
- ผลจากการประกอบอาชีพ ที่ต้องเปลี่ยนช่วงเวลาทำงานอยู่เสมอ เช่น อยู่เวรดึกสลับเวรเช้า
- การใช้ยารักษาโรคบางชนิด ที่ทำให้การนอนไม่ปกติและไม่เป็นธรรมชาติ
การป้องกันอาการผีอำ (ไม่ต้องหาหมอผีมาไล่)
- ไม่ดื่มแอลกอฮอล์หรือสูบบุหรี่ก่อนนอน
- จัดตารางเวลาการนอนหลับให้ดี และพยายามนอนหลับให้ตรงเวลา
- นอนหลับให้เพียงพอที่ร่างกายต้องการประมาณ 8 ชั่วโมงต่อวัน
- ทำให้ตัวเองรู้สึกผ่อนคลายก่อนนอนด้วยกิจกรรมเบาๆ
- จัดห้องให้มีอากาศถ่ายเทได้สะดวก รู้สึกสบายทุกครั้งที่ล้มตัวลงนอน
- หลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนในช่วงใกล้เวลาเข้านอน
- ออกกำลังเป็นประจำ แต่ไม่ควรออกกำลังกายก่อนนอน
สำหรับผู้ที่เกิดภาวะผีอำอยู่เป็นประจำ อย่ามองว่าเป็นเรื่องปกติ เพราะอาจจำเป็นต้องเข้าพบแพทย์เฉพาะทางด้านการนอนหลับ เพื่อทำการตรวจ Sleep Test ทดสอบดูว่าเวลานอนหลับแล้วร่างกายมีปฏิกิริยาอย่างไรบ้าง เพื่อประกอบการวางแผนรักษาต่อไป
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น