ลูกของคุณอาจใช้โทรศัพท์นานเกินไป
ผลการสำรวจเด็กและเยาวชนอายุ 6-24 ปี เมื่อปี 2565 ของสำนักงานสถิติแห่งชาติ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม พบว่ามีผู้ใช้อินเทอร์เน็ต 16 ล้านคน หรือคิดเป็น 98% สถิติปีเดียวกันบอกว่ามีผู้ใช้โทรศัพท์มือถือกว่า 98.2% โดยตั้งแต่ปี 2563-2565 พบว่าเด็กและเยาวชนมีการใช้โทรศัพท์มือถือเพิ่มขึ้น จาก 83% ในปี 2563 เป็น 98.2% ในปี 2565
แม้ว่าอินเทอร์เน็ตสามารถนำพาผู้คนมาพบกันและเปิดโอกาสมากมายสำหรับการเรียนรู้ และความบันเทิง แต่อีกด้านหนึ่งก็มีความเสี่ยงจากการใช้อินเทอร์เน็ตนานเกินไป การเข้าถึงเนื้อหาที่ไม่เหมาะสม การถูกหลอกลวง หรือการเปิดเผยข้อมูลที่ไม่เหมาะสม โดยเฉพาะเมื่อเรากำลังพูดถึงกลุ่มเด็กและเยาวชน
สำนักข่าวบีบีซี บราซิล ได้พูดคุยกับผู้เชี่ยวชาญในหัวข้อนี้และสรุปสัญญาณ 7 ข้อ ที่บ่งบอกว่ามีบางอย่างผิดปกติ และสิ่งที่สามารถทำได้เพื่อปรับปรุงความสัมพันธ์ของการใช้โทรศัพท์มือถือกับโลกดิจิทัล ได้แก่
1. จำนวนชั่วโมงที่เด็กและวัยรุ่นใช้เวลาบนโลกออนไลน์ ซึ่งจำแนกตามกลุ่มอายุด้านล่างนี้
- เด็กอายุต่ำกว่า 2 ปี: ไม่ควรมีการสัมผัสกับหน้าจอหรือวิดีโอเกม
- อายุ 2 ถึง 5 ปี: ไม่เกินวันละ 1 ชั่วโมง
- อายุ 6 ถึง 10 ปี: ระหว่าง 1 ถึง 2 ชั่วโมงต่อวัน
- อายุ 11 ถึง 18 ปี: ระหว่าง 2 ถึง 3 ชั่วโมงต่อวัน
2. การเข้าถึงเนื้อหาที่ไม่เหมาะสม ทั้งนี้ผู้เชี่ยวชาญไม่ได้กังวลเพียงแค่ปริมาณเท่านั้น พวกเขายังเน้นให้เราต้องใส่ใจในคุณภาพของเนื้อหาที่เด็กและวัยรุ่นเข้าถึงด้วย
คำแนะนำที่สำคัญก็คือ ควรดูแลกิจกรรมของผู้เยาว์บนเว็บไซต์และแอปพลิเคชันต่าง ๆ โทรศัพท์มือถือและบริการออนไลน์หลายแห่งมีเครื่องมือและตัวกรองที่อนุญาตให้ผู้ปกครองควบคุมการใช้งานได้
สมาคมกุมารเวชศาสตร์บราซิลแนะนำด้วยว่า เด็กและวัยรุ่นไม่ควรใช้คอมพิวเตอร์ แท็บเล็ต และโทรศัพท์มือถือในพื้นที่ที่แยกตัวจากครอบครัว เช่น ห้องนอนหรือห้องทำงาน แต่ควรใช้ในบริเวณที่มีผู้ใหญ่อยู่ใกล้ ๆ
3. สลับเวลากลางวันเป็นกลางคืน เรารู้ว่าการนอนหลับมีความสำคัญต่อสุขภาพมากเพียงใด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงวัยเด็กและวัยรุ่น แต่เราจะเห็นเด็กเล่นเกมหรือใช้โซเชียลมีเดียจนถึงเช้ามืด
ในช่วงเวลาพักผ่อนในตอนกลางคืน ร่างกายจะพัฒนาและสมองจะเสริมสร้างการจัดเก็บความทรงจำและการเรียนรู้ให้มั่นคง เมื่อเด็กหรือวัยรุ่นสลับเวลาจากกลางวันเป็นกลางคืน กระบวนการทั้งหมดนี้จะถูกขัดขวาง ซึ่งอาจส่งผลกระทบตลอดชีวิตของพวกเขา
โรดริโก มาชาโด จากคลินิกบำบัดความผิดปกติทางอารมณ์ของสถาบันจิตเวช โรงพยาบาลดาสคลินิกาส ในเซาเปาโล อธิบายว่า แสงที่กระตุ้นในเวลากลางคืนจะยับยั้งการหลั่งเมลาโทนิน ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่ช่วยในการนอนหลับ เมื่อไม่มีฮอร์โมนนี้ กระบวนการนอนหลับทั้งหมดจะล่าช้าออกไป
“สิ่งที่ดีที่สุดคือการจำกัดการสัมผัสกับแสงจากหน้าจอเมื่อเข้าสู่ช่วงเวลากลางคืน” เขากล่าว
4. ละทิ้งสังคมรอบข้าง อีกหนึ่งสัญญาณทั่วไปที่บ่งบอกว่าเด็กหรือวัยรุ่นใช้เวลาหน้าจอมากเกินไป คือการละทิ้งกิจกรรมอื่น ๆ เช่น กีฬา กิจกรรมทางวัฒนธรรม และกิจกรรมยามว่าง ด้วยการเล่นวิดีโอเกมหรือการโต้ตอบบนโซเชียลมีเดีย
ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่า การมีระเบียบวินัยและการตั้งกฎเกณฑ์ที่ชัดเจนเป็นสิ่งสำคัญในช่วงแรกของชีวิต และควรรวมถึงเด็กในช่วงวัยแรกเกิดด้วย
ข้อสำคัญ พ่อแม่ของเด็กเล็กไม่ควรใช้โทรศัพท์มือถือหรือแท็บเล็ตเป็นเครื่องมือเพื่อให้เด็กอยู่ในความสงบในขณะที่พวกเขาทำกิจกรรมอื่น
5. ส่งผลกระทบต่อการเรียน พ่อแม่และผู้ปกครองควรใส่ใจเรื่อง “ประสิทธิภาพการเรียนที่ลดลง การเรียนล้มเหลว การละทิ้งหรือการออกจากโรงเรียนกลางคัน”
ควรสังเกตว่าเด็กหรือวัยรุ่นใช้เวลาหลายชั่วโมงอยู่หน้าคอมพิวเตอร์หรือโทรศัพท์มือถือหรือไม่ และในขณะเดียวกัน ควรสังเกตว่าคะแนนและพฤติกรรมในห้องเรียนของพวกเขามีการเปลี่ยนแปลงหรือไม่
นั่นหมายถึงว่าโรงเรียนและครูควรมีส่วนรับผิดชอบในประเด็นนี้ทั้งหมด โดยเฉพาะในกรณีที่ต้องเรียนออนไลน์เนื่องจากเหตุการณ์ไม่คาดคิด เช่น โรคระบาด
6. มีส่วนเกี่ยวข้องกับการ “บุลลี่”หรือกลั่นแกล้งผู้อื่น “เด็กโตและวัยรุ่นอาจตกเป็นเป้าหมายของการกลั่นแกล้งทางไซเบอร์ (Cyberbullying)” นักจิตวิทยา ธิอาโก วิโอลา ศาสตราจารย์จากคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยคาทอลิก ปอนติฟิเชีย ริโอ กรันเด โด ซูล กล่าว
“ในบางกรณี ภาพถ่าย วิดีโอ และรายละเอียดส่วนตัวของเป้าหมายอาจถูกเผยแพร่บนอินเทอร์เน็ต ซึ่งจะก่อให้เกิดผลกระทบทางอารมณ์และจิตใจอย่างมาก” เขาเตือน
โรดริโก มาชาโด จากคลินิกบำบัดความผิดปกติทางอารมณ์ของสถาบันจิตเวช โรงพยาบาลดาสคลินิกาส ในเซาเปาโล ชี้ให้เห็นว่า โลกดิจิทัลสามารถนำไปสู่พฤติกรรมที่ก้าวร้าวมากขึ้นในหมู่ผู้ใช้
“เนื่องจากคุณไม่เห็นปฏิกิริยาของอีกฝ่าย คุณจึงรู้สึกสบายใจที่จะปล่อยอารมณ์ดิบ ๆ ออกมา โดยไม่ผ่านการยับยั้งชั่งใจทางวิจารณญาณหรือศีลธรรมใด ๆ” จิตแพทย์กล่าว
“กล่าวอีกนัยหนึ่งคือ มีแนวโน้มที่จะทำให้พฤติกรรมสุดโต่งกลายเป็นเรื่องธรรมดาบนโซเชียลมีเดีย” เขาเสริม
เครื่องมือที่ดีที่สุดตามคำแนะนำของผู้เชี่ยวชาญคือการป้องกัน พ่อแม่และผู้ปกครองจำเป็นต้องเฝ้าระวัง และชี้แนะเยาวชนว่าควรปฏิบัติตัวอย่างไรในสถานการณ์เหล่านี้
เมื่อการกลั่นแกล้งทวีความรุนแรงและถึงขั้นร้ายแรงมากขึ้น ครอบครัวของทั้งผู้กระทำและเหยื่อ รวมถึงตัวแทนจากโรงเรียน ต้องเข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องมากขึ้น และต้องมีการไกล่เกลี่ยบางอย่างที่ดำเนินการโดยนักจิตวิทยาหรือผู้เชี่ยวชาญที่ทำงานในด้านนี้
7. ปัญหาต่อสุขภาพร่างกายและจิตใจ การใช้โทรศัพท์มือถือและอุปกรณ์อื่น ๆ ที่เชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ตมากเกินไปอาจนำไปสู่การเกิดอาการและโรคต่าง ๆ ได้ สมาคมกุมารเวชศาสตร์บราซิล ได้เปิดเผยถึงกลุ่มอาการบางประเภท ได้แก่
- ความผิดปกติในการนอน เช่น โรคนอนไม่หลับ
- ความผิดปกติในการกิน เช่น โรคบูลิเมียและโรคอะนอเร็กเซีย
- การใช้ชีวิตแบบนั่งนิ่ง ไม่ออกกำลังกาย
- โรคอ้วน
- ปวดศีรษะ
- ปวดกล้ามเนื้อ เนื่องจากท่าทางที่ไม่เหมาะสม
- ความหงุดหงิด ความก้าวร้าว และพฤติกรรมรุนแรง
- ความวิตกกังวลและภาวะซึมเศร้า
อย่างไรก็ตาม อีกส่วนหนึ่งของอาการเหล่านี้มีพื้นฐานมาจากอารมณ์และความรู้สึก “การเข้าถึงเนื้อหาเกี่ยวกับการลดน้ำหนักและการค้นหารูปร่างในอุดมคติ ทำให้เพิ่มความเสี่ยงต่อความผิดปกติในการกิน” ไอเซนสไตน์กล่าว
จะแก้ปัญหานี้อย่างไร? เมื่อพิจารณาว่าโทรศัพท์มือถือเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันของคนส่วนใหญ่ การมีความสัมพันธ์ที่ดีขึ้นกับเทคโนโลยีเป็นไปได้หรือไม่ และเราจะระบุสถานการณ์ที่การใช้เทคโนโลยีเหล่านี้เกินขีดจำกัด โดยเฉพาะในวัยเด็กและวัยรุ่นได้อย่างไร
“การแทรกแซงครั้งแรก คือการค่อย ๆ ตัดการเชื่อมต่อทีละน้อย ไม่มีประโยชน์ในการลงโทษหรือตัดการใช้โทรศัพท์มือถือของเด็กหรือวัยรุ่นอย่างทันทีและถาวร” ไอเซนสไตน์กล่าว
“และแน่นอนว่าการตัดการเชื่อมต่อจากอินเทอร์เน็ตจำเป็นต้องเกี่ยวข้องกับสมาชิกในครอบครัวทุกคน ไม่ใช่เพียงแค่เด็กและวัยรุ่นเท่านั้น” กุมารแพทย์เน้นย้ำ
“เด็กและวัยรุ่นจำเป็นต้องรู้ว่าพวกเขาสามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้ในจำนวนชั่วโมงที่กำหนดต่อวัน” วิโอลากล่าวเสริมถึงความจำเป็นในการตั้งข้อจำกัดการใช้งาน
“หากวัยรุ่นมีปัญหาในด้านสังคม การทำงาน การศึกษา หรือครอบครัว จำเป็นต้องเข้ารับการประเมินจากผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพ” มาชาโดแนะนำ
ในกรณีที่มีการวินิจฉัยภาวะผิดปกติ เช่น การติดวิดีโอเกม สามารถแทรกแซงได้ผ่านการบำบัดทางจิตแบบพฤติกรรมและความคิด (Cognitive-Behavioral Therapy) ซึ่งเป็นวิธีการในทางจิตวิทยาที่มุ่งเน้นการวิเคราะห์ เหตุผล และการแทรกแซงในพฤติกรรมและความคิดของผู้ป่วย
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น