การดำเนินงานสร้างสุขมุสลิมไทย สิงหาคม-ตุลาคม 2567

โครงการพัฒนาผู้ประกอบการร้านอาหารมุสลิมเพื่อสุขภาวะ

นางสาวสุทธิดา วิชัยชาติ ผู้รับผิดชอบโครงการฯ 

วันอังคารที่ 13 สิงหาคม 2567 นางสาวสุทธิดา  วิชัยชาติ ผู้รับผิดชอบโครงการพัฒนาผู้ประกอบการร้านอาหารมุสลิมเพื่อสุขภาวะ เข้าพบจากฮัจยีศักดิ์กรียา บิลแสละ ประธานกรรมการอิสลามประจำจังหวัดสงขลา ณ สำนักงานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดสงขลา เพื่อชี้แจงรายละเอียดโครงการและเชิญเป็นประธานเปิดการอบรม

ต่อมาในช่วงบ่ายเข้าพบ คุณอิสริยา  อักษรชื่น นักวิชาการสาธารณสุขชำนาญการ ณ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสงขลา เพื่อขอคำแนะนำการอบรมการสุขาภิบาลอาหารและประสานความร่วมมือสนับสนุนวิทยากรอบรมให้ความรู้หลักสูตรการสุขาภิบาลอาหารกับร้านอาหารในจังหวัดสงขลาที่เข้าร่วมโครงการฯ

ทั้งนี้ (ภาพล่างจากซ้าย) อิหม่ามเอกพงษ์  ยีหล๊ะ กรรมการอิสลามประจำจังหวัดสงขลา นายอิสม่าแอน หมัดอะดั้ม ประธานมูลนิธิคนช่วยฅน และ นายมะหมูด  หมัดอะหิน CEO ร้านมุงจาก ให้เกียรติร่วมเป็นที่ปรึกษาโครงการฯ ในจังหวัดสงขลา

วันพุธที่ 14 สิงหาคม 2567  ผู้รับผิดชอบโครงการพัฒนาสถานประกอบการร้านอาหารมุสลิมเพื่อสุขภาวะ มูลนิธิสร้างสุขมุสลิมไทย สสม. เดินทางเข้าพบผู้บริหารและคณะเจ้าหน้าที่สถาบันฮาลาล มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี เพื่อประสานความร่วมมือการจัดอบรมมาตรฐาน MFS และขอความอนุเคราะห์สนับสนุนวิทยากรอบรมให้ความรู้ด้านอาหารมุสลิมปลอดภัย (ฮาลาลันตอยยีบัน)  โดยมี อ.อับดุลเลาะ โซะมะดะ นักวิชาการศึกษา งานเครือข่ายองค์กรศาสนาและการรับรองมาตรฐานฮาลาล เป็นผู้ติดต่อประสานการเข้าพบในครั้งนี้ ท้งนี้ ดร.อรวิทย์ บุญชม รองผู้อำนวยการสถาบันฮาลาลฝ่ายวิจัย บริการวิชาการ และกิจการพิเศษ ให้การต้อนรับ  จากนั้น ดร.ซูเฟียนา ซารีแซ หัวหน้าศูนย์บริการวิชาการและพันธกิจเพื่อสังคมของสถาบันฮาลาล ได้ชี้แจงถึงการทำงานของสถานบันฯ ผลจากการเข้าพบครั้งนี้ทางสถาบันฯ ยินดีที่จะให้ความร่วมมือและสนับสนุนกิจกรรมของโครงการฯ ตามที่ได้นำเสนอ

22 กันยายน 2567 คณะทำงานโครงการฯ จังหวัดสงขลาเข้าพบนายอาหมัด เบ็ญอาหลี รองนายกเทศมนตรีนครหาดใหญ่ นายธีรพล สองเมือง เลขาธิการหอการค้าจังหวัดสงขลา ดร.ทิชากร จินดา ผู้อำนวยการโรงเรียนวิทยาสรรค์ศึกษา และนายไฟซอล บิลโอ ผู้ประกอบการห้างหุ้นส่วนจำกัดไพซอล แทรเวล แอนด์ ทัวร์ริ่ง เพื่อชี้แจงรายละเอียดโครงการฯ พร้อมทั้งเชิญร่วมผลักดันการดำเนินโครงการฯ ให้บรรลุตามเป้าหมายและวางแผนการต่อยอดอนาคต เพื่อให้ร้านอาหารมุสลิมในจังหวัดสงขลาเป็นที่ยอม ผู้บริโภคให้ความเชื่อถือว่าสะอาด ปลอดภัย รสชาติดี และถูกต้องตามหลักการของศาสนา ทั้งนี้ ดร.ทิชากร จินดา เป็นที่ปรึกษาโครงการฯ

9 ตุลาคม 2567  มูลนิธิสร้างสุขมุสลิมไทยจัดอบรมหลักสูตร “การสุขาภิบาลอาหารและมาตรฐานอาหารมุสลิมปลอดภัย (MFS)” จังหวัดสงขลา ณ โรงแรมรีมาส อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา การจัดอบรมครั้งนี้ได้รับเกียรติจากฮัจยีศักดิ์กรียา บิลแสละ ประธานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดสงขลา มาเป็นประธานเปิดงาน ต่อด้วยการบรรยายหัวข้อ “สสม. กับงานพัฒนาสุขภาวะมุสลิมไทย” โดย ศ.ดร.อิศรา  ศานติศาสน์  ประธานมูลนิธิสร้างสุขมุสลิมไทย สสม.  จากนั้นในช่วงเช้าเป็นการอบรมการสุขาภิบาลอาหาร ซึ่งได้รับการสนับสนุนวิทยากรชำนาญการจากสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสงขลา และช่วงบ่ายเป็นการอบรมให้ความรู้เกี่ยวกับมาตรฐานอาหารมุสลิมปลอด (MFS) โดยวิทยากรจากสถาบันฮาลาลมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ และในตอนท้ายนายอาหมัด  เบ็ญอาหลี รองนายกเทศมนตรีนครหาดใหญ่ได้ให้เกียรติมาเป็นผู้กล่าวปิดการอบรม การอบรมครั้งนี้มีผู้สนใจเข้าร่วมการอบรมจำนวน 74 คน จาก 48 ร้าน

28 ตุลาคม - 2 พฤศจิกายน 2567 คณะทำงานโครงการฯ จังหวัดสงขลา ลงพื้นมอบป้าย “ร้านนี้เข้าร่วมโครงการพัฒนาผู้ประกอบการร้านอาหารมุสลิมเพื่อสุขภาวะ” แก่ร้านที่เข้าร่วมอบรมจำนวน 43 ร้านค้า พร้อมทั้งให้คำแนะนำการปรับปรุงร้านให้ได้มาตรฐานตามที่กำหนด ก่อนการลงพื้นที่ตรวจประเมินต่อไป

4 พฤศจิกายน 2567 เข้าพบ กอ.กทม. ศ.ดร.อิศรา  ศานติศาสน์ ประธานมูลนิธิสร้างสุขมุสลิมไทย นายเอนก  พงษ์วิจารณ์ กรรมการและเหรัญญิก มูลนิธิ นายดาวุด  ทับอุไร รองผู้จัดการแผนงานสร้างสุขมุสลิมไทย  นางสาวสุทธิดา  วิชัยชาติ ผู้รับผิดชอบโครงการพัฒนาผู้ประกอบการร้านอาหารมุสลิมเพื่อสุขภาวะและคณะ เดินทางเข้าพบคณะกรรมอิสลามประจำกรุงเทพมหานคร เพื่อชี้แจงรายละเอียดโครงการฯ พร้อมขอคำแนะนำการดำเนินกิจกรรมของโครงการฯ ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร และประสานความร่วมมือในการทำงาน ในการนี้มี ผศ.ดร.วิศรุต  เลาะวิถี รองประธานกรรมการอิสลามประจำกรุงเทพมหานคร  อิหม่ามนริศ อามินเซ็น อิหม่ามพิสิษฐ์  อรุณพูนทรัพย์ และอิหม่ามมูฮัมหมัด  เสน่หา กรรมการฯ ให้การต้อนรับ จากการพูดคุยกันได้ข้อสรุปว่า ทางสสม.จะวางแผนการดำเนินงาน ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และสำรวจรายละเอียดร้านอาหารมุสลิมในกรุงเทพมหานคร จากนั้นจะนัดกอ.กทม.เพื่อพูดคุยแนวทางการทำงานร่วมกันอีกครั้งหนึ่งในเดือนธันวาคม 2567

15 พฤศจิกายน 2567 นางสาวสุทธิดา วิชัยชาติ ผู้รับผิดชอบโครงการพัฒนาผู้ประกอบการร้านอาหารมุสลิมเพื่อสุขภาวะ และนายอาหาร หมาดโหยด ผู้ประสานงานโครงการฯ เข้าพบ นายสุชาติ สุขเจริญ นักวิชาการสาธารณสุขชำนาญการพิเศษและที่ปรึกษาผู้อำนวยการสำนักสุขาภิบาลอาหารและน้ำ นางสาวพรรณวรท อุดมผล หัวหน้ากลุ่มงานพัฒนาระบบสุขาภิบาลอาหาร นายเอกชัย ชัยเดช นักวิชาการสาธารณสุขชำนาญการ และนางสาวอารยา วงศ์ป้อม นักวิชาการสาธารณสุขชำนาญการ เพื่อชี้แจงรายละเอียดโครงการ แนวทางการดำเนินงานตลอดจนรูปแบบโครงการฯ เพื่อขอความร่วมมือสนับสนุนวิทยากรในการจัดอบรม พร้อมทั้งขอคำแนะนำและประสานความร่วมมือการทำงานในอนาคต เบื้องต้น นายสุชาติฯ และนายเอกชัยฯ ยินดีให้การสนับสนุนวิทยากรในการอบรมสุขาภิบาลอาหาร ในวันจันทร์ที่ 10 กุมภาพันธ์ 2568 โดยให้ทางผู้รับผิดชอบโครงการฯ ประสานส่งรายละเอียดเพิ่มเติมให้นายเอกชัยฯ เพื่อความสอดคล้องของเนื้อหาบรรยายและการร่วมงานระหว่างองค์กรในอนาคต

ระหว่างวันที่ 19 – 24 พฤศจิกายน 2567 ทีมตรวจประเมินมาตรฐาน Muslim Food Safety (MFS) จังหวัดเชียงใหม่ มีทั้งหมด 4 คน ได้แก่ นายนิรันดร์ บินประทาน นายอาหรี หมาดโหยด นายประสิทธิศักดิ์ เสกสรรค์ และนายวสันต์ สิงห์ทอง ลงพื้นที่ตรวจประเมินและให้คำแนะนำแก่ร้านอาหารที่เข้าร่วมโครงการฯ เพื่อให้ประเมินร้านอาหารตามเกณฑ์มาตรฐานที่ได้วางไว้ หากร้านไหนยังมีข้อบกพร่อง หรือยังไม่ได้ตามเกณฑ์มาตรฐาน ทางทีมฯ จะให้คำแนะนำแก่ผู้ประกอบการให้ปรับปรุง แก้ไขให้ได้ตามเกณฑ์มาตรฐาน จากการตรวจประเมินร้านอาหารในครั้งนี้ ผู้ประกอบการร้านอาหารให้ความร่วมมือกับทีมตรวจประเมินมาตรฐาน MFS เป็นอย่างดี และยินดีที่จะปรับปรุงร้านอาหารของตนเองให้ตรงตามมาตรฐาน ซึ่งจะทำให้ร้านของตนเองเป็นที่น่าเชื่อถือของผู้บริโภค

โครงการเครือข่ายลดการพึ่งพิงยาสูบ

นายไฟซอล สะเหล็ม ผู้รับผิดชอบโครงการฯ

วันที่ 26 สิงหาคม 2567 โครงการเครือข่ายลดการพึ่งพิงยาสูบ มูลนิธิสร้างสุขมุสลิมไทย สสม.จัดงานตลาดนัดพืชทดแทนยาสูบ โดย นายปรีชา นวลน้อย รองผู้ว่าราชการจังหวัดพัทลุง ให้เกียรติเป็นเป็นประธานเปิดงานตลาดนัดพืชทดแทนยาสูบ ณ ลานมัสยิดสามัคคีมุสลิม (บ้านคลองหวะหลัง) ม.1 ต.คลองทรายขาว อ.กงหรา จ.พัทลุง โดยรองผู้ว่าฯ กล่าวว่า "ที่ผ่านมา...ตนจะได้รับยาเส้นพื้นบ้านเป็นของฝาก ของขวัญมาตลอด หลังจากนี้อยากจะเห็นของฝากจากพืชทดแทนยาสูบ หรือสินค้าชุมชนเป็นของฝากมากกว่าการฝากยาเส้น และอยากเห็นผู้ปกครองเป็นแบบอย่างที่ดีให้กับบุตรหลานด้วยการไม่สูบบุหรี่”

กิจกรรมตลาดนัดพืชทดแทนยาสูบ เป็นกิจกรรมรวบรวมเครือข่าย เลิกสูบ เลิกปลูก เลิกยาเส้น ในพื้นที่อำเภอกงหรา จังหวัดพัทลุง จังหวัดสงขลา และจังหวัดสตูล จำนวน 15 ชุมชน ที่เข้าร่วมโครงการฯ สามารถลดพื้นที่การปลูกยาสูบ สามารถปลูกพืชทดแทน ซึ่งในด้านของผู้ปลูกนั้นได้ส่งเสริมให้มีการปลูกพืชอย่างอื่นทดแทน เป็นพืชที่เหมาะสมกับบริบทของแต่ละพื้นที่และเป็นที่ต้องการของตลาด เป็นผักปลอดสารพิษด้ อาทิ ถั่วหรั่ง ถั่วลิสง พลู ตะไคร้ ขมิ้น อ้อย ฯลฯ สร้างรายได้ดีและมากกว่ารายได้จากการขายใบยาสูบ และที่สำคัญมีสุขภาพที่ดีกว่าอีกด้วย

วันที่ 15 พฤศจิกายน 2567 มูลนิธิสร้างสุขมุสลิมไทย (สสม.) ร่วมลงนาม MOU ณ คณะอุตสาหกรรมเกษตรและชีวภาพ มหาวิทยาลัยทักษิณ คณะอุตสาหกรรมเกษตรและชีวภาพ มหาวิทยาลัยทักษิณ วิทยาเขตพัทลุง ได้จัดพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการด้าน นวัตกรรมอุตสาหกรรมเกษตรและชีวภาพ ร่วมกับหน่วยงานเครือข่าย รวมทั้งสิ้น 16 หน่วยงาน โดยมีผู้บริหารและคณะครูจำนวน 55 ท่าน และนักเรียนจำนวน 100 คน เข้าร่วมเป็นสักขีพยานในงาน 

ในพิธีดังกล่าวมีการลงนามระหว่าง ผศ.ดร.รัทรดา เทพประดิษฐ์ คณบดีคณะอุตสาหกรรมเกษตรและชีวภาพ ศ.ดร.อิศรา ศานติศาสน์ ประธานมูลนิธิสร้างสุขมุสลิมไทย สสม.

โดย ผศ.ดร.ธัญญา พันธ์ฤทธิ์ดำ รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยทักษิณ วิทยาเขตพัทลุง เป็นประธานในพิธีเปิด พร้อมด้วยตัวแทนจาก โรงเรียนสอนศาสนาอิสลามในจังหวัดพัทลุงจำนวน 14 โรงเรียน

นอกจากนี้ บริษัท เอสพีซี แฟคทอรี่ ออล ซัพพลาย จำกัด ได้เข้าร่วมเป็นพันธมิตรสำคัญในการสนับสนุนการพัฒนาโครงการ โดยมีบทบาทในการสนับสนุนการสร้างผลิตภัณฑ์ในพื้นที่ และช่วยพัฒนาช่องทางการตลาดที่ยั่งยืน

โครงการเครือข่ายเลิกบุหรี่เริ่มที่บ้าน

นางสาวกัลยาณา วาจิ รองผู้จัดการแผนงานฯ และผู้รับผิดชอบโครงการฯ 

นายลุกมาน กูนา ผู้ช่วยผู้รับผิดชอบโครงการฯ

จัดส่งวิทยากรให้ความรู้เรื่องพิษภัยของบุหรี่

โครงการเครือข่ายเลิกบุหรี่เริ่มที่บ้าน ได้รับเชิญจากโรงเรียนและชุมชนต่าง ๆ ให้จัดส่งวิทยากรไปบรรยาย ในหัวข้อที่เกี่ยวกับอันตรายและพิษภัยที่เกิดจากการสูบบุหรี่ทุกชนิด ไม่ว่าจะเป็นบุหรี่ไฟฟ้า ยาเส้น หรือบุหรี่มวนเอง ในการป้องกันนักสูบหน้าใหม่ พร้อมทั้งให้แนวทางในการชวนให้คนที่บ้านเลิกสูบบุหรี่ และร่วมกันเสนอแนวทางการรณรงค์ในโรงเรียนเพื่อให้โรงเรียนของตนเองเป็นโรงเรียนปลอดบุหรี่ไฟฟ้าทุกชนิด  ทั้งนี้โครงการฯได้มอบให้นายลุกมาน กูนา ผู้ช่วยผู้รับผิดชอบ เป็นวิทยากรบรรยาย โดยใน

วันที่ 22 สิงหาคม 2567 จัดกิจกรรมอบรมพัฒนาศักยภาพแกนนำครูและตัวแทนนักเรียนในกลุ่มโรงเรียนเอกชนระดับมัธยม ในพื้นที่จังหวัดนราธิวาสที่เข้าร่วมเป็นเครือข่ายเลิกบุหรี่เริ่มที่บ้าน จำนวน 13 โรงเรียน โดยนางสาวการัมบีบี แซลีมา ผู้ช่วยนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดนราธิวาส เป็นประธานในพิธีเปิดการอบรม ณ ห้องประชุมนราทัศน์ โรงแรมอิมพีเรียล จังหวัดนราธิวาส กิจกรรมเป็นการให้ข้อมูลความรู้เกี่ยวกับข้อกฎหมายของบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้า ต่อด้วยกิจกรรม work shop ให้กลุ่มแกนนำแบ่งกลุ่มเพื่อเสนอความคิดเห็นในการดำเนินงานให้โรงเรียนเป็นโรงเรียนปลอดบุหรี่อย่างเป็นรูปธรรมต่อไป

วันที่ 2 กันยายน 2567 เข้าบรรยายที่ โรงเรียนบาเจาะ ต.บาเจาะ อ.บาเจาะ จ.นราธิวาส นอกจากการบรรยายแล้ว ยังได้จัดกิจกรรมเดินรณรงค์ในพื้นที่ชุมชนที่อยู่บริเวณรอบโรงเรียน และร้านค้าในบริเวณใกล้เคียงเพื่อให้ชาวบ้านเกิดความตระหนักถึงพิษภัยที่เกิดจากการสูบบุหรี่อีกด้วย

กิจกรรมวันที่ 22 สิงหาคม และ 2 กันยายน 2567

วันที่ 27 กันยายน 2567 ร่วมเป็นวิทยากรบรรยาย ณ โรงเรียนบ้านเจาะบาแน อ.มายอ จ.ปัตตานี เกี่ยวกับอันตรายและพิษภัยที่เกิดจากการสูบบุหรี่ไฟฟ้า และบุหรี่อื่น ๆ พร้อมทั้งให้แนวทางกับนักเรียนที่ร่วมกิจกรรม ในการชวนให้คนที่บ้านเลิกสูบบุหรี่

วันที่ 30 กันยายน 2567 ลงพื้นที่ชุมชนบ้านโผลง ต.โต๊ะเด็ง อ.สุไหงปาดี จ.นราธิวาส เพื่อบรรยาย ให้รู้เท่าทันความเคลื่อนไหวของอุตสาหกรรมยาสูบที่กำลังเป็นกระแสในปัจจุบัน โดยเฉพาะอันตรายจากบุหรี่ไฟฟ้า บุหรี่ทั่วไป และยาเส้น ตามที่ชุมชนร้องขอ เพื่อให้กลุ่มแกนนำในพื้นที่ อาทิ กรรมการมัสยิด สามารถส่งต่อข้อมูลไปยังสัปบุรุษที่มาละหมาด กลุ่มครูสอนตาดีกาได้นำข้อมูลไปสอนแก่นักเรียนให้เข้าใจและไม่ยุ่งเกี่ยวกับบุหรี่ไฟฟ้า ทุกกลุ่มที่มาร่วมกิจกรรม พร้อมช่วยกันรณรงค์เพื่อให้สมาชิกในชุมชนเกิดความตระหนักและเห็นถึงอันตรายและพิษภัยที่เกิดจากการสูบบุหรี่ทุกชนิด รวมถึงปัญหาบุหรี่มือสองและบุหรี่มือสาม เป็นการป้องกันไม่ให้เกิดนักสูบหน้าใหม่ และเป็นที่ปรึกษาสำหรับผู้ที่ต้องการจะเลิกบุหรี่อย่างจริงจัง

กิจกรรมวันที่ 27 และ 30 กันยายน 2567

วันที่ 6 ตุลาคม 2567 นายลุกมาน กูนา ผู้ช่วยผู้รับผิดชอบโครงการฯ พร้อมคณะ ลงพื้นที่ไปยัง ชุมชนบ้านบือราเปะ ต.โคกพะยอม อ.เมือง จ.นราธิวาส เพื่อบรรยายให้ความรู้ ให้รู้เท่าทันความเคลื่อนไหวของอุสาหกรรมยาสูบที่กำลังเป็นกระแสในปัจจุบัน โดยเฉพาะอันตรายจากบุหรี่ไฟฟ้า บุหรี่ทั่วไป และยาเส้น เพื่อให้กลุ่มแกนนำในพื้นที่ โดยเฉพาะกรรมการมัสยิดที่จะสามารถส่งต่อข้อมูลไปยังสัปบุรุษที่มาละหมาด กลุ่ม อสม.ในชุมชน และกลุ่มผู้ใหญ่บ้าน ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน รวมรณรงค์ เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชน

วันที่ 12 ตุลาคม 2567 ได้รับเชิญจากแกนนำอาสาสมัครพาเลิกบุหรี่ในพื้นที่ชุมชนบ้านควนโต๊ะเหลง มาร่วมเป็นวิทยากรบรรยาย ณ ตาดีกาบ้านควนโต๊ะเหลง อ.ควนโดน จ.สตูล

วันที่ 16 ตุลาคม 2567 ได้รับเชิญจากแกนนำอาสาสมัครพาเลิกบุหรี่ในพื้นที่ชุมชนบ้านกระเสาะ มาร่วมเป็นวิทยากรบรรยาย ณ ห้องประชุมโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลกระเสาะ อ.มายอ จ.ปัตตานี

วันที่ 18 ตุลาคม 2567 ได้รับเชิญจากแกนนำอาสาสมัครพาเลิกบุหรี่ในพื้นที่ชุมชนมลายูบางกอก อ.เมือง จ.ยะลา เพื่อร่วมกิจกรรมรณรงค์พิษภัยของบุหรี่ไฟฟ้า ทั้งนี้ นางวรัญญา รัชกุล ผู้อำนวยการโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบ้านบาโงยบาแด เป็นวิทยากรร่วมบรรยายในกิจกรรมครั้งนี้ นอกจากนี้ยังมีต้นแบบของผู้ที่สามารถเลิกสูบบุหรี่ มาบอกเล่าประสบการณ์ในการเลิกสูบบุหรี่เพื่อเป็นกรณีศึกษาและสร้างแรงบันดาลใจแก่ผู้เข้าร่วมกิจกรรม เพื่อนำไปต่อยอดในการทำงานต่อไป 

กิจกรรมวันที่ 16 และ 18 ตุลาคม 2567

ประธาน สสม. เยี่ยมเครือข่าย

วันที่ 13 พฤศจิกายน 2567 ศ.ดร.อิศรา ศานติศาสน์ ประธานมูลนิธิสร้างสุขมุสลิมไทย สสม. พร้อมด้วย รศ.ดร.อิสมาแอ อาลี รองประธานมูลนิธิฯ และ อ.ฮาซัน หะยีมะเย็ง ที่ปรึกษามูลนิธิฯ ลงพื้นที่พบปะเยี่ยมเยียนเครือข่ายที่ร่วมโครงการมัสยิดปลอดบุหรี่และโครงการเลิกบุหรี่เริ่มที่บ้าน ณ ชุมชนบ้านโผลง ต.โต๊ะเด็ง อ.สุไหงปาดี จ.นราธิวาส เพื่อเสริมพลังการขับเคลื่อนงานพัฒนาสังคมในพื้นที่ต่อไป

วันที่ 14 พฤศจิกายน 2567 ศ.ดร.อิศรา ศานติศาสน์ ประธานมูลนิธิสร้างสุขมุสลิมไทย สสม. พร้อมคณะทำงาน สสม. ลงพื้นที่พบปะเยี่ยมเยียนเครือข่าย สสม. ณ ชุมชนบ้านตรอซัน อ.ยะรัง จ.ปัตตานี เพื่อเสริมพลังการทำงานของเครือข่าย สสม. ให้เข็มแข็งและพร้อมเดินหน้าทำงานสร้างเสริมสุขภาวะต่อไป

โครงการพัฒนามาตรฐานมัสยิดปลอดบุหรี่

เดือนกันยายน 2567 ที่ผ่านมา ทีมงาน สสม.ภาคใต้ตอนล่างและภาคใต้ตอนกลาง ในฐานะที่เป็นทีมประเมิน สสม. (CB) ลงพื้นที่ตรวจประเมินมัสยิดปลอดบุหรี่ 11 มัสยิดที่ร่วมโครงการ เพื่อติดตามและสรุปผลสำเร็จของการดำเนินงานของมัสยิดแต่ละพื้นที่ว่าได้มีการดำเนินการตามเกณฑ์มาตรฐานที่กำหนดไว้หรือไม่ อีกทั้งมีโอกาสได้พูดคุยแลกเปลี่ยนปัญหาอุปสรรคต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นช่วงระหว่างการดำเนินงาน ทั้งนี้มีมัสยิดที่ผ่านเกณฑ์ 7 แห่ง และยังไม่ผ่านเกณฑ์ 4 แห่ง ซึ่งทีมประเมิน สสม. (CB) ได้ให้ข้อเสนอแนะพร้อมคำแนะนำต่าง ๆ กับคณะกรรมการมัสยิดเพื่อปรับปรุงและพัฒนามัสยิดให้ได้ตามเกณฑ์มาตรฐานมัสยิดปลอดบุหรี่ภายใต้ สสม. ต่อไป 


สุขสาระออนไลน์ ฉบับที่ 238
เดือนธันวาคม 2567
มูลนิธิสร้างสุขมุสลิมไทย (สสม.)
www.muslim4health.or.th

ความคิดเห็น