วิธีกินผักผลไม้ให้ปลอดภัยและดีต่อสุขภาพ

กินผักผลไม้ให้ปลอดภัย

ปัจจุบันพบว่าคนไทยกินผักน้อยมาก เด็กไทยร้อยละ 58.9 ไม่ได้กินผักทุกวัน และกินผักเพียงช้อนครึ่งต่อวันเท่านั้น ทั้ง ๆ ที่ควรจะกินผักให้ได้วันละ 12 ช้อนกินข้าว ส่วนผู้ใหญ่ก็กินผักเพียงวันละ 2 ช้อนครึ่งเท่านั้น

กรมอนามัยแนะนำให้ผู้ใหญ่กินผักถึง 18 ช้อนต่อวัน หรือ 6 ทัพพี วิธีกินผักผลไม้เพื่อสุขภาพที่ดี คือ กินให้หลากหลาย เพราะผักผลไม้มีใยอาหาร หรือเส้นใย ช่วยทำความสะอาดลำไส้ ช่วยลดการดูดซึมไขมัน คอเลสเตอรอลในเลือด มีวิตามินและแร่ธาตุ ช่วยปรับสมดุลเอนไซม์และฮอร์โมนในร่างกาย ให้ทำงานมีประสิทธิภาพ ให้สารพฤกษเคมีที่มีฤทธิ์ อาจช่วยลดความเสี่ยงของโรคมะเร็งได้ เช่น มะเร็งเต้านม และยังมีสารต้านอนุมูลอิสระ ช่วยต้านการอักเสบของเซลล์ และเพิ่มภูมิคุ้มกันร่างกายด้วย

ผักผลไม้ตามท้องตลาด แม้หน้าตาสีสันจะดูสดสะอาด แต่รู้หรือไม่ว่า อาจมีสารเคมีตกค้างมากมาย ผู้บริโภคจึงควรให้ความสำคัญกับอันตรายจากสารเคมีตกค้าง หรือการสะสมจากยาฆ่าแมลง ยาฆ่าวัชพืชที่เป็นสารก่อมะเร็ง เช่น ยาฆ่าแมลงจำพวกคลอริเนตเตทไฮโดรคาร์บอน (Chlorinated Hydrocarbon) หรือเรียกว่าออร์กาโนคลอรีน (Organochlorine) ได้แก่ อัลดริน เคลเธน ดีดีที คลอเดน ดรีลดริน ซึ่งนำมาใช้กำจัดแมลงได้หลายชนิด สารเหล่านี้อยู่ในธรรมชาติได้นานและไม่สลายตัวง่าย

ก่อให้เกิดสารพิษตกค้างและเป็นอันตรายมาก หากร่างกายได้รับสารนี้ในปริมาณมาก จะทำให้เวียนศีรษะ หน้ามืด ท้องร่วง อาจหัวใจวาย จนถึงขั้นเสียชีวิตได้ แต่ถ้าได้รับในปริมาณน้อย ๆ ค่อย ๆ สะสมจะเป็นสาเหตุของการเกิดมะเร็ง เช่น มะเร็งเต้านมในผู้หญิง

วิธีล้างผักผลไม้เพื่อลดสารเคมีตกค้าง

  1. ล้างด้วยน้ำไหล โดยแช่ในน้ำนาน 15 นาที จากนั้นเปิดน้ำไหลผ่านและคลี่ใบผักถูไปมานาน 2 นาที (เหมาะสำหรับการล้างผักจำนวนน้อย)
  2. แช่ในน้ำผสมน้ำส้มสายชู 5 เปอร์เซ็นต์ ในอัตราส่วนน้ำส้มสายชู 1 ช้อนโต๊ะต่อน้ำ 4 ลิตร แช่นาน 15 นาที จากนั้นล้างด้วยน้ำสะอาด
  3. แช่ในโซเดียมไบคาร์บอเนต (เบคกิ้งโซดา) ในอัตราส่วนครึ่งช้อนโต๊ะผสมน้ำ 10 ลิตร แช่ทิ้งไว้ 15 นาที จากนั้นล้างด้วยน้ำสะอาด (เหมาะสำหรับการล้างผักจำนวนมาก)

การกินผักผลไม้สดเป็นประจำจะช่วยให้สุขภาพดี องค์การอนามัยโลกแนะนำให้กินผักผลไม้วันละ 400 กรัม เพื่อช่วยลดความเสี่ยงต่อโรคไม่ติดต่อเรื้อรังต่าง ๆ เช่น หัวใจขาดเลือด เส้นเลือดในสมองตีบ และมะเร็งบางชนิด นอกจากนี้ ควรหลีกเลี่ยงการกินผักนอกฤดูกาล เนื่องจากใช้สารเคมีมากกว่าผักตามฤดูกาล




สุขสาระออนไลน์ ฉบับที่ 238
เดือนธันวาคม 2567
มูลนิธิสร้างสุขมุสลิมไทย (สสม.)
www.muslim4health.or.th

ความคิดเห็น