ทำไมเรามักจะอารมณ์เสียกับคนใกล้ชิด และวิธีแก้ไขอย่างสร้างสรรค์

ทำไมเรามักจะอารมณ์เสียกับคนใกล้ชิด

เคยสังเกตกันบ้างไหม ว่าทำไมเรามักจะหงุดหงิดกับคนใกล้ชิด?

เพราะว่าเราคิดเข้าข้างตัวเองมาตลอดว่าคนใกล้ชิดคือของตาย คงไม่หนีจากเราไปไหน เราจึงแสดงอารมณ์เกรี้ยวกราดได้

หรือว่าเราคาดหวังกับคนใกล้ชิดมากเกินไป? หวังว่าเขาจะเข้าใจ พอความเห็นไม่ตรงกัน เราก็เลยหงุดหงิด สำหรับคนอื่นเราปล่อยวาง ก็เพราะเราไม่ได้คาดหวังอะไรมากกับพวกเขา
หรือว่าอาการหัวร้อนนี้เป็นนิสัยหรือตัวตนที่แท้จริงของเรา?

ผู้เชี่ยวชาญบอกว่า อาการดังกล่าวเป็นกลไกการป้องกันทางจิตใจอย่างหนึ่งของคนเรา ที่เรามักเลือกที่จะมาระบายกับคนในบ้านเพราะเราไม่สามารถ ไม่กล้าทำกับคนอื่น (ทำกับคนอื่นอาจจะโดนสวนกลับ?)

จะแก้ไขอย่างไร?

อันดับแรกเราพักผ่อนพอไหม นอนดึกไปหรือเปล่า หรือว่ากินไม่อิ่ม ปวดหัวเป็นไข้ เพิ่งทะเลาะกับแฟนมา... เหล่านี้ก็เป็นเหตุให้เราหงุดหงิดได้เมื่อมาพบเจออะไรที่ไม่ทันใจ ไม่ถูกใจ

เราควรรับรู้อารมณ์ของตนเอง ต้องรู้จักควบคุมอารมณ์โดยเฉพาะกับคนในครอบครัวหรือคนใกล้ชิด
ลองหาเวลานั่งทบทวนถึงพฤติกรรมความใจร้อน ความโกรธของเรา ในขณะที่อารมณ์เป็นปกติ ถ้าให้เวลามัน เราจะเข้าใจมันได้ในที่สุด

จะเห็นได้ว่า สิ่งสำคัญที่ทำให้เราคงอารมณ์โกรธของเราไว้ คือความคิดของเรานั่นเอง ดังนั้นการจัดการกับอารมณ์โกรธ เราจึงต้องเข้าใจความคิดของเรา รู้จักธรรมชาติของตัวเอง เมื่อหงุดหงิดแล้วเราจะกลายเป็น “ตัว”อะไร เช่น บ่นไม่หยุด โวยวาย ชวนปะทะกับทุกคน หรือ....

การรับรู้ธรรมชาติเมื่อเราหงุดหงิดนั้นจำเป็นอย่างมาก เพราะจะเป็นจุดเริ่มต้นในการระงับพฤติกรรมทางลบให้น้อยลงเมื่อเราหงุดหงิด
เมื่อเราหงุดหงิด เราก็จะมีแต่ความคิดในด้านลบที่พร้อมจะระเบิดออกมาในรูปแบบของพฤติกรรมทางลบ เช่น พูดจาหยาบคาย โวยวาย ด่าทอ ทำลายข้าวของ ทำร้ายคนรอบข้าง
เรากลายเป็นบุคคลอันตรายที่ไม่มีใครอยากเข้าใกล้ ดังนั้นขั้นตอนแรกในการตัดวงจรดังกล่าว ก็คือ การหยุดความคิดเชิงลบให้ไว ให้ปรับความคิดไปในเชิงบวก

ยิ่งสนิทยิ่งต้องเกรงใจ เมื่อรู้สึกเกรงใจ จะทำให้เรารู้จักควบคุมอารมณ์หรือพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมของเราได้มากขึ้น
ไม่ลืมที่จะพูดคุยและใส่ใจความรู้สึกของกันและกัน ลองพูดจาด้วยน้ำเสียงนุ่มนวล เหมือนกับที่เราพูดกับคนอื่น เพราะไม่มีใครอยากถูกทำร้ายความรู้สึก ไม่ว่าจะเป็นเราหรือคนใกล้ชิดก็ตาม

อย่าเพิ่งด่วนสรุปอะไรไปง่าย ๆ เพราะมันจะกลายเป็นว่าเราได้ทำร้ายความรู้สึกของอีกฝ่ายโดยไม่รู้ตัว ซึ่งปัญหาอาจจะอยู่ที่ตัวเราเอง
อย่าลืมว่าใคร ๆ ก็หงุดหงิดได้ แต่อย่าหงุดหงิดบ่อยครั้งจนเป็นนิสัย....

ทีนี้...ก็อยู่ที่ตัวเราแล้วละ 


สุขสาระออนไลน์ ฉบับที่ 238
เดือนธันวาคม 2567
มูลนิธิสร้างสุขมุสลิมไทย (สสม.)
www.muslim4health.or.th

ความคิดเห็น