เรื่องเล่าวัยเด็ก “คนมีบุญ”

สมัยก่อนเราถูกสอนเรื่องห้ามตัดเล็บ หรือกวาดบ้านในเวลากลางคืน โดยไม่ให้เหตุผล เพียงเพื่อผู้ใหญ่จะได้ไม่ต้องวุ่นวายมาคอยอธิบาย เพื่อให้มีน้ำหนักหน่อยก็เพิ่มเรื่อง “ผี” ขู่เข้าไป หรือว่าเด็กคนไหนอ้วนท้วน ผิวพรรณดี ก็จะบอกว่ามีบุญ โดยไม่ได้สนใจลูกหลานที่ผอมแห้ง ตัวดำว่าจะรู้สึกอย่างไร ขณะเราเฝ้าชื่นชมลูกหลานที่เรียนเก่งไหวพริบดี โดยไม่ได้นึกถึงลูกหลานอีกคนที่นั่งฟังด้วยความน้อยใจว่าเราแย่จัง โง่จังเรียนไม่เก่ง หรือเที่ยวสอนว่า มืดแล้วมักริบแล้วให้รีบเข้าบ้าน เพราะช่วงนี้ผีจะออกมา เป็นต้น

หรือแม้แต่ครู ครูบางคนตำหนิเด็กที่เซี่องซึมว่าขี้เกียจสันหลังยาว ชื่นชมเด็กบางคนว่าขยันขันแข็ง ต่อหน้าเพื่อนร่วมชั้น โดยไม่ได้คำนึงถึงความรู้สึกของเด็ก ๆ หลายคน หลายเรื่องทำให้เด็ก ๆ ลิงโลดที่ครูรัก แต่หลายเรื่องทำให้เด็กบางคนอาจน้อยใจ บางคนอาจเจ็บใจ

สมัยที่ผู้เขียนยังเป็นเด็ก ๆ ตัวเล็ก ๆ แม่สอนให้เรารู้จักช่วยตัวเอง ให้รู้จักซักผ้า วันหนึ่งขณะกำลังตากกางเกงใน ป้าข้างบ้านก็เดินเข้ามาเห็น แล้วก็พูดขึ้นว่า คนมีบุญดูได้จากการบิดผ้า ถ้าบิดผ้าจนแห้งก็แปลว่าเป็นคนที่ต้องทำอะไรด้วยตัวเอง เหนื่อย ไม่มีคนช่วย ผมได้ยินก็ตกใจ..ตายละ เราบิดผ้าแห้ง.. แย่แล้ว เราเป็นคนไม่มีบุญหรือ โตขึ้นเหนื่อยแน่เลย ไม่มีคนช่วยเหลือ …หลังจากนั้น เมื่อตากผ้า ผมจะบิดผ้าเพียงให้ผ้าอุ้มน้ำพอสมควร ไม่ให้แห้งมากนัก เผื่อว่าจะเป็นคนมีบุญ ภายภาคหน้าจะได้ไม่เหนื่อย มีคนคอยช่วยเหลือ

อีกเรื่องหนึ่ง ช่วงที่ผู้เขียนไปค้างที่บ้านคุณป้า เพื่อนบ้านคนหนึ่งเล่าให้คุณป้าฟังว่า เพื่อนบ้านที่เพิ่งจะกลับจากฮัจญ์ นำน้ำซัมซัมใส่ขวดโหลไว้ มีคนเคร่งศาสนาหรือคนมีบุญจะเห็นภาพนิมิตรต่าง ๆ ในขวดโหล โดยเฉพาะเด็ก ๆ ก็จะเห็นภาพนิมิตรเป็นเพราะเด็กนั้นบริสุทธ์ คุณป้าบอกว่าตั้งใจจะไปเยี่ยมอยู่แล้ว บ่ายวันนั้นคุณป้าก็ชวนผมไปเยี่ยมฮัจญีใหม่ พอถึงบ้านที่ตกแต่งอย่างสวยงาม ขวดโหลบรรจุน้ำซัมซัมถูกจัดวางไว้กลางห้อง ผมเดินเข้าไปในห้องเห็นเด็กวัยเดียวกับผมกลุ่มหนึ่งนั่งมองไปที่ขวดโหล ผู้ใหญ่คนหนึ่งถามว่า เห็นอะไรไหม..เด็กคนหนึ่งในกลุ่มบอกว่าเห็นครับ เพิ่งเห็นอูฐเดินผ่านไปเดี๋ยวนี้เอง..คุณป้าหันมาถามผมว่า เห็นอะไรหรือเปล่า ตอนนั้นผมตกใจ ก็เรามองไม่เห็นอะไรเลย แย่แล้วหรือว่าเราไม่มีบุญ...เพราะกลัวว่าจะเป็นคนไม่มีบุญ จึงตอบคุณป้าไปว่า เห็นครับ เพิ่งเห็นอูฐเดินไปทางนี้..หางอูฐเพิ่งจะพ้นขอบขวดโหลเลย... ขณะที่เด็กกลุ่มนั้นมองผมด้วยสายตาเลิกลั่ก ขากลับบ้านคุณป้าถามผมอีกครั้งด้วยรอยยิ้มว่า...เห็นจริงหรือลูก...

เชื่อว่า การโกหกของคนเรา เป็นกลไกในการเอาตัวรอด ป้องกันตัว หรือสร้างคุณค่าให้แก่ตนเอง เราอยู่ในสังคมแบบใด ได้รับความเชื่อ หรือค่านิยมแบบใด เราก็แสดงออกมาทางพฤติกรรมของเรา ลูกหลานก็เข้าใจและซึมซับไปเช่นนั้น

เมื่อการกระทำและคำสอนของผู้ใหญ่ สร้างพฤติกรรมให้เด็กรู้จักโกหก เพื่อประโยชน์ของตนเอง จะได้รับการยกย่องชื่นชม และถ้าการโกหกเหล่านั้น วันหนึ่งมันกลายเป็นพิษร้ายที่สร้างความเสียหายให้แก่สังคม จะไปโทษใคร..



สุขสาระออนไลน์ ฉบับที่ 239
เดือนมกราคม 2568
มูลนิธิสร้างสุขมุสลิมไทย (สสม.)
www.muslim4health.or.th

ความคิดเห็น