สัญญาณเสื่อมของดวงตาที่ไม่ควรมองข้าม

วุ้นตาเสื่อม

วุ้นตาเป็นเจลใส ๆ อยู่ระหว่างเลนส์ตาและจอประสาทตา มีหน้าที่เป็นตัวกลางให้แสงและภาพผ่านเข้าไปสู่จอประสาทตาได้ วุ้นตาจะประกอบไปด้วยน้ำร้อยละ 95-98 และเส้นใยคอลลาเจนร้อยละ 2-5

สาเหตุ

วุ้นตาเสื่อมอาจเกิดจากหลายสาเหตุ ได้แก่

  • ภาวะความเสื่อมตามวัย ซึ่งเป็นสาเหตุที่พบบ่อยที่สุด
  • การอักเสบในวุ้นตาและจอตา (intermediate and posterior uveitis) ซึ่งอาจเกิดจากการอักเสบจากภาวะภูมิคุ้มกันของร่างกาย การติดเชื้อ หรือภาวะทางกายอื่น ๆ เช่น มะเร็ง
  • ภาวะเลือดออกในน้ำวุ้นตา จากอุบัติเหตุหรือโรคที่ทำให้มีความผิดปกติของหลอดเลือด

ปัจจัยเสี่ยง

  • อายุที่มากขึ้น (เกิน 50 ปี) เส้นใยคอลลาเจนจะเสื่อมสภาพ (ลักษณะเดียวกับการเสื่อมสภาพของคอลลาเจนใต้ผิวหนัง ทำให้ผิวเหี่ยวย่น ขาดความยืดหยุ่นไป)
  • สายตาสั้น - ผู้ที่สายตาสั้น มักมีขนาดลูกตาที่ยาว เมื่อกลอกตาในชีวิตประจำวันวุ้นตาจะมีการแกว่งตัวมากกว่าผู้มีขนาดลูกตาปกติ ซึ่งอาจมีผลทำให้เส้นใยคอลลาเจนเสื่อมสภาพได้เร็วขึ้น
  • เคยมีอุบัติเหตุที่ตา เช่น โดนลูกเทนนิส ลูกบอล ชกต่อย หรือหกล้ม อาจทำให้มีวุ้นตาเสื่อมเร็วกว่าการเสื่อมตามธรรมชาติ
  • เบาหวานขึ้นจอตา เบาหวานทำให้เส้นเลือดขนาดเล็กเกิดการเปราะ แตก รั่วซึม อุดตัน ได้ง่าย ผู้ป่วยที่มีเบาหวานขึ้นตา จึงอาจมีเลือดออกในวุ้นตาจากการแตกตัวของเส้นเลือดที่จอประสาทตา เหนี่ยวนำให้เกิดภาวะวุ้นตาเสื่อมได้อย่างรวดเร็ว

อาการ

  • มองเห็นจุด เส้น หรือหยากไย่ ลอยไปมาตามการกลอกตาในที่สว่าง
  • เห็นแสงคล้ายแฟลช เมื่อกลอกตาในเวลากลางคืนหรือเมื่ออยู่ในที่มืด การเห็นแสงแฟลช หมายถึงมีแรงดึงรั้งซึ่งเป็นแรงกลกระทำต่อจอประสาทตา (ในลักษณะเดียวกับการโดนชกตาแล้วตาพร่า เห็นดาว) การมีแสงแฟลชบ่อย ๆ จะเพิ่มความเสี่ยงของการเกิดโรคจอประสาทตาฉีกขาดหรือหลุดลอกได้มาก

การป้องกัน
ป้องกันการถูกกระทบกระเทือนทางดวงตา เพื่อลดความเสี่ยงวุ้นตาเสื่อม ทุกกิจกรรมเสี่ยง เช่น การเล่นกีฬาปะทะ ถ้าทำงานในพื้นที่เสี่ยงควรสวมแว่นป้องกันและระมัดระวังไม่ให้ดวงตาได้รับการกระทบกระเทือน

หากมีเบาหวาน ควรตรวจตาครั้งแรกเมื่อทราบว่าเป็นเบาหวาน เพื่อค้นหาภาวะโรคตาจากเบาหวาน เช่น ต้อกระจกก่อนวัย เบาหวานขึ้นจอประสาทตา และภาวะวุ้นตาเสื่อม

ภาวะวุ้นตาเสื่อมมักเกิดจากความเสื่อมตามวัย อย่างไรก็ตาม เมื่อเริ่มสังเกตเห็นอาการผิดปกติควรพบจักษุแพทย์เพื่อวินิจฉัยหาสาเหตุอื่น ๆ ที่อาจเกี่ยวข้องและเข้ารับการรักษาที่เหมาะสมโดยเร็วที่สุดก่อนรุนแรง

ข้อมูล
https://www.rama.mahidol.ac.th/ramachannel/article/วุ้นตาเสื่อม-ภาวะเสี่ยง/
https://www.bangkokhospital.com/content/vitreous-degeneration


สุขสาระออนไลน์ ฉบับที่ 239
เดือนมกราคม 2568
มูลนิธิสร้างสุขมุสลิมไทย (สสม.)
www.muslim4health.or.th

ความคิดเห็น