“ขยะอาหาร” (food waste) คือ เศษอาหารที่ไม่สามารถนำมาบริโภคต่อได้ อาจเป็นสิ่งที่เหลือจากการบริโภค เช่น เปลือกผลไม้ หรือ เป็นอาหารที่หมดอายุจนไม่สามารถนำมาบริโภคต่อได้
ข้อมูลจากรายงาน Food Waste Index 2024 ของ UNEP ระบุว่า ในปี 2022 ขยะอาหารทั่วโลกมีปริมาณมากกว่า 1 พันล้านตัน โดยค่าเฉลี่ยขยะอาหารของโลกอยู่ที่ 79 กิโลกรัมต่อคนต่อปี ในขณะที่ข้อมูลจาก กรมควบคุมมลพิษ ชี้ว่า คนไทยสร้างขยะอาหารถึง 9.68 ล้านตันต่อปี หรือเฉลี่ยเป็น 146 กิโลกรัมต่อคนต่อปี ซึ่งนับว่าสูงกว่าค่าเฉลี่ยโลกถึงเกือบสองเท่า
แหล่งกำเนิดที่มีการทิ้งขยะอาหารสูงสุดคือ ตลาดสด ซึ่งมีสัดส่วนขยะอาหารถึง 77.26 % รองลงมา คือ ห้างสรรพสินค้า และ ร้านสะดวกซื้อ สำนักงาน คอนโดมิเนียมและอพาร์ตเมนต์ โรงแรมและรีสอร์ท วัด(ศาสนสถาน) ครัวเรือน สถานศึกษา ตามลำดับ
การฝังกลบเป็นวิธีจัดการขยะอาหารที่ง่ายที่สุด เนื่องจากขยะอินทรีย์สามารถย่อยสลายเองได้ซึ่งเป็นความเข้าใจที่ถูกต้อง เพียงแต่เมื่อขยะอาหารจำนวนมากทับถมกันแล้วถูกกลบด้วยดิน พวกมันจะใช้เวลานานกว่าปกติในการย่อยสลาย เนื่องจากในดินไม่มีออกซิเจนซึ่งเป็นปัจจัยหนึ่งในการย่อยสลายทางชีวภาพ อีกทั้งการย่อยสลายของขยะอินทรีย์ยังปล่อยก๊าซมีเทน ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และก๊าซคาร์บอนมอนออกไซด์ สาเหตุหลักที่ทำให้เกิดภาวะเรือนกระจกถึง 8% เทียบเท่ากับการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากภาคคมนาคม และมากกว่าการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากภาคการบินทั่วโลกถึง 4 เท่า
นี่คือข้อเท็จจริงที่น่าตกใจเกี่ยวกับขยะอาหารที่คุณต้องรู้
- อาหารถูกทิ้ง 1.3 พันล้านตันทุกปี
- เท่ากับการสูญเสียหรือสูญเปล่าอาหารมูลค่า 1 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ
- หากอาหารที่สูญเปล่าเป็นประเทศ ประเทศนั้นก็จะเป็นผู้ผลิตก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์รายใหญ่เป็นอันดับสามของโลก รองจากสหรัฐอเมริกาและจีน
- อาหารเหลือทิ้งเพียงหนึ่งในสี่สามารถเลี้ยงคนขาดสารอาหาร 795 ล้านคนทั่วโลกที่ประสบปัญหาความหิวโหยได้
- ขยะอาหารในประเทศที่ร่ำรวย (222 ล้านตัน) เทียบเท่ากับอาหารทั้งหมดที่ผลิตได้ในแอฟริกาใต้สะฮารา (230 ล้านตัน)
- ผู้บริโภคชาวยุโรปหรืออเมริกาเหนือจะสูญเสียอาหารเกือบ 100 กิโลกรัมต่อปี ซึ่งมากกว่าน้ำหนักตัวของเขาหรือเธอ (70 กิโลกรัม)
- ผู้บริโภคชาวยุโรปหรืออเมริกาเหนือสูญเสียอาหารมากกว่าผู้บริโภคชาวแอฟริกันทั่วไปถึง 15 เท่า
- การขาดเทคโนโลยีและโครงสร้างพื้นฐานเป็นสาเหตุหลักของการสิ้นเปลืองอาหารในแอฟริกา เมื่อเทียบกับการสิ้นเปลืองอาหารในครัวเรือนในโลกที่พัฒนาแล้ว
- อาหารที่ถูกทิ้งในปัจจุบันในยุโรปสามารถเลี้ยงคนได้ถึง 200 ล้านคน ในละตินอเมริกาสามารถเลี้ยงคนได้ 300 ล้านคน และในแอฟริกาสามารถเลี้ยงคนได้ 300 ล้านคน
- ขยะอาหารก่อให้เกิดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ 3.3 พันล้านตัน เร่งให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลก
การลดขยะอาหารที่ยั่งยืนที่สุดควรเริ่มต้นที่ตัวเรา คือการซื้ออาหารไปจนถึงวิธีจัดการขยะอาหารให้ถูกวิธีโดยไม่กระทบกับสิ่งแวดล้อมอื่น ๆ ดังนี้
- คิดก่อนซื้อ วางแผนล่วงหน้าสำหรับอาหารแต่ละมื้อในอีก 2-3 วันข้างหน้า ช่วยให้การซื้อของทำได้อย่างมีประสิทธิภาพ ลดโอกาสที่จะมีของเหลือทิ้งลงได้มาก
- เริ่มต้นได้ตั้งแต่การเก็บวัตถุดิบที่เราจะต้องเก็บให้ถูกวิธี เช่น ผักหรือผลไม้บางอย่างจะมีอายุยืนยาวกว่าถ้าไม่เก็บในตู้เย็น เช่น หัวหอม กล้วย หรือ มันเทศ นอกจากนี้การแช่แข็งเนื้อสัตว์ หรืออาหารทะเล ควรแยกแช่เป็นสัดส่วนแต่พอกิน เพื่อที่จะได้ไม่ต้องละลายน้ำแข็งในส่วนที่เกินมาและทำให้อายุการเก็บรักษาสั้นลง
- กินให้หมด เหลือแช่แข็ง หากมีอาหารเหลือเยอะอย่ากลัวที่จะใส่ช่องแช่แข็งเพื่อเอาไว้กินในมื้อต่อไป ดังนั้นอย่าลืมแปะวันที่ที่เราแช่อาหารทุกอย่างเอาไว้เพื่อให้บริหารจัดการได้ง่ายขึ้น
- ปลูกใหม่ ผักหลายชนิดเช่น โหระพา สะระแหน่ แมงลัก เป็นต้น เมื่อเราเด็ดใบกินแล้ว ยังเหลือต้นและรากให้สามารถนำกลับไปปลูกใหม่ได้อีก
- นำไปเลี้ยงสัตว์ สำหรับร้านอาหารที่มีพื้นที่เลี้ยงสัตว์อย่างเช่น เป็ด ไก่ ปลา สามารถทุ่นค่าใช้จ่ายเรื่องอาหารสัตว์ด้วยการนำขยะอาหารอย่างพวกเศษผักผลไม้หรือเปลือกไข่บดละเอียดไปเลี้ยงเป็ด ไก่ ส่วนพวกเศษขนมปังก็นำไปเป็นอาหารปลาได้
- นำไปทำปุ๋ย นอกจากเศษผักหรือเปลือกไข่ เปลือกผลไม้ ก็ยังสามารถใช้พวกเศษก้างปลา กระดูกสัตว์ เศษข้าว ขนมปัง เศษหมูไก่ ฯลฯ คลุกกับเศษใบไม้แห้งและดินเพื่อช่วยดูดซับความชื้นของอาหาร จากนั้นหมักในภาชนะ ก็จะเกิดการย่อยสลายเป็นปุ๋ยชั้นดี
- ใช้ประโยชน์ด้านอื่น ๆ ต่อ เช่น
- กากชากาแฟ สามารถนำไปช่วยดูดกลิ่นไม่พึ่งประสงค์ในห้องครัว หรือแม้แต่การใช้กากกาแฟมาเช็ดคราบมันที่ภาชนะก่อนนำไปล้างตามขั้นตอนปกติ
- เปลือกหอมหัวใหญ่ เมื่อสะสมไว้ปริมาณมากสามารถนำไปต้ม ทำน้ำย้อมผ้าโทนสีส้ม
- น้ำซาวข้าว สามารถใช้ล้างสารพิษในผักผลไม้ได้อย่างดี นำไปล้างภาชนะ ช่วยลดคราบไขมัน คราบอาหาร หรือจะนำไปรดน้ำต้นไม้ก็ช่วยเพิ่มสารอาหารในดิน (ควรใช้น้ำซาวข้าวครั้งที่ 2 เนื่องจากน้ำที่ซาวครั้งแรกอาจมีสิ่งเจือปน)
ขยะอาหารส่งผลกระทบเชิงลบต่อสิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจความมั่นคงทางอาหารและโภชนาการ การจัดการกับปัญหานี้ให้ประสบผลสำเร็จยังคงเป็นความท้าทายที่ยิ่งใหญ่ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า
ข้อมูล
https://www.khaosod.co.th/around-thailand/news_8061791
https://earth.org/facts-about-food-waste/
https://foodtank.com/news/2015/06/world-environment-day-10-facts-about-food-waste-from-bcfn/
https://www.unileverfoodsolutions.co.th/th/chef-inspiration/sustainable-restaurants/7-ways-to-reduce-food-waste.html
เดือนกุมภาพันธ์ 2568
มูลนิธิสร้างสุขมุสลิมไทย (สสม.)
www.muslim4health.or.th
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น