คนขี้เหงา เสี่้ยงกระทบสุขภาพ

ความเหงาคือความรู้สึกโดดเดี่ยวลำพัง ว้าเหว่ อ้างว้าง ไร้คนใกล้ชิด ขาดคนปลอบโยนเข้าใจ บางคนเหงาทุกครั้งเมื่ออยู่คนเดียว ขณะที่บางคนก็ชอบที่จะอยู่ “เงียบๆ คนเดียว” ความเหงานั้นจึงขึ้นอยู่กับความสัมพันธ์ทางสังคมของบุคคล การเปรียบเทียบความสัมพันธ์ของตนกับผู้อื่น รวมถึงประสบการณ์ในอดีตอาจทำให้บุคคลมีความคาดหวังต่อความสัมพันธ์ของตนกับผู้อื่น ทำให้เกิดการรับรู้และตีความว่าตนเองกำลังรู้สึกเหงาขึ้นมาได้

งานวิจัยของ Ami Rokach นักจิตวิทยาคลินิก และเป็นอาจารย์ประจำสาขาจิตวิทยาแห่ง York University ประเทศแคนาดา กล่าวว่า “คนที่แต่งงานแล้วมักจะมีความรู้สึกเหงาน้อยกว่าคนที่ไม่แต่งงาน แต่นั่นไม่รวมถึงการมีชีวิตคู่ที่ไม่ราบรื่น โดยพบว่าคู่แต่งงานบางคู่มีความรู้สึกเหงา เพราะขาดความรู้สึกใกล้ชิดผูกพัน”

เมื่อความเหงาเกิดขึ้น เราต้องมีการปรับตัวเพื่อจัดการกับความรู้สึกเหงา แต่หากไม่สามารถปรับตัวหรืออยู่กับความรู้สึกเหงาได้แล้ว ก็มักจะทำให้เป็นคนที่เครียดง่าย รู้สึกไม่ค่อยไว้วางใจคนอื่น มีพฤติกรรมแยกตัว มีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคซึมเศร้าเพิ่มมากขึ้น หรือมีอาการเจ็บป่วยไปจนถึงขั้นเสียชีวิตได้ และแม้คนส่วนใหญ่เลือกที่จะทำให้ตัวเองไม่เหงาด้วยการหาอะไรทำ อย่างเช่น ดูรายการโทรทัศน์ เล่นอินเทอร์เน็ต แต่มันก็เป็นไปไม่ได้เลยที่จะหลีกเลี่ยงให้ตัวเองไม่รู้สึกเหงาได้อย่างสมบูรณ์

ความเหงาสามารถเพิ่มขึ้นหรือลดลงได้ตามการเปลี่ยนแปลงของความสัมพันธ์ทางสังคมของบุคคล การเปรียบเทียบความสัมพันธ์ของตนกับผู้อื่น รวมถึงประสบการณ์ในอดีตอาจทำให้บุคคลมีความคาดหวังต่อความสัมพันธ์ของตนกับผู้อื่น ทำให้เกิดการรับรู้และตีความว่าตนเองกำลังรู้สึกเหงาขึ้นมาได้ รวมถึงปัจจัยอื่น ๆ ได้แก่

  1. ลักษณะบุคลิกภาพของบุคคลที่มีความแตกต่างกัน เช่น บุคลิกภาพแบบขี้อาย (shyness) หรือการขาดทักษะทางสังคม ก็อาจจะทำให้มีแนวโน้มที่จะเกิดความรู้สึกเหงาได้ง่ายกว่าคนที่มีบุคลิกภาพแบบมั่นใจ (confident)

  2. ค่านิยมและบรรทัดฐานทางสังคมวัฒนธรรมที่มีความแตกต่างกันในแต่ละสังคม เช่น วัฒนธรรมของคนตะวันตกเน้นให้บุคคลพึ่งพาตนเองสูงและพยายามทำเป้าหมายให้สำเร็จลุล่วงด้วยตนเอง ก็อาจจะมีแนวโน้มที่ทำให้เกิดความรู้สึกเหงาได้มากกว่า วัฒนธรรมของคนเอเชียที่เน้นการอยู่ร่วมกันและช่วยเหลือกันภายในสมาชิกของครอบครัว

  3. สถานการณ์ทางสังคมหรือเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในขณะนั้น เช่น ความเครียดของคนว่างงาน ความรู้สึกไม่พึงพอใจในสถานภาพสมรส การสูญเสียคนรัก การเปลี่ยนแปลงจากการย้ายที่อยู่ อาจเพิ่มความเสี่ยงที่ส่งผลให้บุคคลรู้สึกเหงาได้

ความเหงาส่งผลกระทบต่อสุขภาพกายและสุขภาพจิต

ผลกระทบของความเหงา ได้แก่

  • เพิ่มความเสี่ยงต่อโรคเบาหวาน ภาวะความดันโลหิตสูง โรคหลอดเลือดในสมอง โรคหัวใจและหลอดเลือด
  • เพิ่มความเสี่ยงต่อการมีพฤติกรรมที่ส่งผลเสียต่อสุขภาพ เช่น การสูบบุหรี่ และการใช้สารเสพติด
  • ส่งผลต่อคุณภาพการนอน ทำให้มีคุณภาพในการนอนไม่ดี และรบกวนการนอนหลับ
  • ส่งผลต่อภาวะซึมเศร้า และความวิตกกังวล
  • ส่งผลให้มีความพึงพอใจในชีวิตต่ำ

วิธีรับมือกับความเหงา

  1. ถามตัวเองว่าเหงาเพราะไม่ค่อยได้คุยกับใคร หรือเหงาเพราะผู้คนที่รายล้อมรอบตัวไม่ใช่คนที่เข้าใจ ห่วงใย หรือพูดคุยกันได้อย่างสบายใจ

    • หากเป็นแบบแรกก็อาจลองออกไปพบปะพูดคุยกับผู้คนให้รู้สึกมีชีวิตชีวายิ่งขึ้น
    • หากเป็นอย่างหลัง เปิดโอกาสให้ได้เรียนรู้ที่จะมีความสัมพันธ์ใหม่ ๆ และไม่ปิดกั้นตัวเองในการสร้างความสัมพันธ์กับคนรอบ ๆ ข้าง
  2. หางานอดิเรกทำเพื่อให้จิตใจจดจ่ออยู่กับกิจกรรมนั้นแทน เช่น วาดรูป อ่านหนังสือ ฟังเพลง ออกกำลังกาย จัดสวน หรือหาสัตว์เลี้ยง เป็นต้น หรืออาจทำกิจกรรมอาสาต่าง ๆ เพื่อช่วยให้รู้สึกดีกับตัวเองที่ได้ทำประโยชน์ต่อส่วนรวมหรือต่อผู้อื่น ทั้งยังอาจช่วยให้ลืมสิ่งแย่ ๆ ที่กำลังเผชิญ และเปิดโลกไปสู่สิ่งใหม่ ๆ ที่มีพลังบวกมากขึ้น

  3. หาสิ่งยึดเหนี่ยวทางจิตใจ เช่น ศาสนา หรือแนวคิดต่าง ๆ เป็นต้น เพราะการทำความเข้าใจแก่นคำสอนหรือแนวคิดบางอย่าง อาจช่วยให้ปล่อยวางหรือเข้าใจความเป็นไปของโลกมากขึ้น

  4. ปรึกษากับนักจิตวิทยา เพื่อหาวิธีรับมือกับความเหงาเพิ่มเติม



สุขสาระออนไลน์ ฉบับที่ 240
เดือนกุมภาพันธ์ 2568
มูลนิธิสร้างสุขมุสลิมไทย (สสม.)
www.muslim4health.or.th

ความคิดเห็น