นางแย้ม ชื่อสามัญ Glory Bower ชื่อวิทยาศาสตร์ Clerodendrum chinense (Osbeck) Mabb. ชื่อวงศ์ Labiatae ชื่อท้องถิ่นปิ้งชะมด ปิ้งช้อน ปิ้งสมุทร (เหนือ) ส่วนใหญ่ (ตะวันออกเฉียงเหนือ)
นางแย้ม เป็นไม้ดอกไม้ประดับเก่าแก่จากวรรณคดีไทย ปลูกง่าย ขยายพันธุ์ง่าย ทนทาน ดอกออกเป็นช่อตามยอดและปลายกิ่ง ดอกในช่อบานไม่พร้อมกัน ด้านบนจะเริ่มบานก่อน ดอกมีกลีบซ้อนคล้ายดอกมะลิซ้อน กลีบดอกสีขาว เมื่อบานแล้วค่อยๆ เปลี่ยนเป็นสีชมพู กลีบดอกชั้นนอกเป็นสีม่วงอ่อน นางแย้มออกดอกได้ตลอดทั้งปี ขึ้นอยู่กับการเอาใจใส่ดูแล ดอกนางแย้มมีกลิ่นหอมแรง และหอมตลอดวัน ชาวไทยสมัยก่อนนิยมนำดอกนางแย้มไปเป็นเครื่องบูชาพระ ดอกบานหลายวัน นิยมปลูก ประดับสวนในบรรยากาศสวนป่า ปลูกเพื่อบังสายตา ริมน้ำตก ลำธาร ถ้าปลูกที่แสงรำไรกิ่งจะยื่นยาว ดอกเล็ก ถ้าปลูกกลางแจ้ง และตัดแต่งอยู่เสมอ ดอกจะใหญ่
นางแย้ม มีถิ่นกำเนิดในเขตร้อนของทวีปเอเชีย เป็นพืชท้องพืชในประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หลายประเทศเช่น พม่า ไทย ลาว กัมพูชา อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และอินเดีย ส่วนนางแย้มที่มีถิ่นกำเนิดในประเทศไทยนั้น คือ นางแย้มป่า สำหรับในประเทศไทยสามารถพบได้ทั่วทุกภาคของประเทศตามธรรมชาติซึ่งจะขึ้นตามป่าดิบชื้น ป่าดิบเขา ป่าดิบแล้ง ป่าเบญจพรรณ ตามที่ชุ่มชื้นเช่น ริมหนองน้ำ ลำห้วย ที่มีแสงแดดรำไรที่มีความสูงในระดับน้ำทะเลจนถึงความสูง 1500 เมตร
สรรพคุณทางสมุนไพร
- ใบ: รสเฝื่อน ตำพอกแก้โรคผิวหนัง ผื่นคัน
- ราก: รสเฝื่อน แก้ปวดข้อ แก้ เหน็บชา ริดสีดวง ขับระดูขาว ขับปัสสาวะ แก้ปัสสาวะขุ่นหลืองแดง แก้หลอดลมอักเสบ แก้เหน็บชา ริดสีดวงทวาร ฝนน้ำปูนใส (ทารักษา เริม งูสวัด) ต้มกิน (แก้ฝีภายในและแก้ไตพิการ)
- ทั้งต้น: แก้กระดูกสันหลังอักเสบเรื้อรัง แก้ปวดเอว และปวดข้อ แก้พิษฝี ขับปัสสาวะ แก้ไตพิการ
มีรายงานการศึกษาวิจัยทางเภสัชวิทยาของนางแย้มระบุว่า จากการวิจัยการออกฤทธิ์ทางชีวภาพของสารสกัดจากส่วนเหนือดินของนางแย้ม สามารถยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อแบคทีเรียบางชนิด เช่น เชื้อสเต็ปโต คอคคัส ออเรียส เชื้อสูโดโมแนส แอรูจิโนสา และยับยั้งเชื้อแบคทีเรียบางชนิด ส่วนงานวิจัยอีกฉบับหนึ่งพบว่ามีฤทธิ์การยับยั้งการอักเสบ ขับปัสสาวะและลดความดันโลหิตได้ ส่วนงานวิจัยในต่างประเทศ ระบุว่าสารสกัดจากรากนางแย้ม มีฤทธิ์ต้านแบคทีเรีย ขับปัสสาวะต้านอาการปวดท้องจากโรคเกี่ยวกับลำไส้ ช่วยในการทำงานของไต และมีฤทธิ์ลดความดันโลหิตเป็นต้น นอกจากนี้ยังมีรายงานการวิจัยอีกหลายฉบับระบุว่าสารสกัดจากส่วนต่าง ๆ ของนางแย้มมีฤทธิ์ ต้านเบาหวาน ต้านการอักเสบ ต้านเชื้อจุลชีพ ระงับปวดลดไข้ และมีฤทธิ์ต้านมาลาเรีย อีกด้วย
ข้อควรระวัง สำหรับการเก็บใบของนางแย้มมาใช้เป็นสมุนไพร อาจทำให้เกิดอาการระคายเคืองผิวหนังได้ในบางรายเนื่องจากผิวใบของนางแย้มทั้งสองด้านมีขนละเอียดที่มีความสากคันขึ้นปกคลุมอยู่ และในการนำมาใช้เป็นยาสมุนไพรควรระมัดระวังในการใช้เช่นเดียวกันกับการใช้สมุนไพรชนิดอื่น ๆ โดยใช้ในขนาดและปริมาณ ที่เหมาะสม และไม่ควรใช้ต่อเนื่องกันเป็นระยะเวลานานจนเกินไปเพราะอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพในระยะยาวได้ สำหรับเด็กสตรีมีครรภ์รวมถึงผู้ที่มีโรคประจำตัวที่ต้องรับประทานยาต่อเนื่องเป็นประจำ ก่อนจะใช้นางแย้ม เป็นยาสมุนไพร ควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้ทุกครั้ง
https://www.disthai.com/17364427/นางแย้ม
https://www.rspg.or.th/plants_data/herbs/herbs_02_4.htm
https://adeq.or.th/นางแย้ม/
https://www.doctor.or.th/socialcontent/detail/404355
สุขสาระออนไลน์ ฉบับที่ 241
เดือนมีนาคม 2568
มูลนิธิสร้างสุขมุสลิมไทย (สสม.)
www.muslim4health.or.th
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น