เรื่องน่ารู้กับหมอกษิดิษ: โรคกรดไหลย้อน

นพ.กษิดิษ ศรีสง่า

เมื่อเอ่ยถึง โรคกรดไหลย้อน คนทั่ว ๆ ไปมักจะมึนงง ไม่ทราบว่าหมายถึงอะไร  เพราะความจริงคำว่ากรดไหลย้อน เป็นคำใหม่ที่เพิ่งตั้งขึ้นมา และยังไม่ได้ใช้กันแพร่หลายเท่าไรนัก แต่พอเรามากล่าวถึงอาการ ท้องอืดเฟ้อ เรอเหม็นเปรี้ยว เราจะรู้สึกคุ้นหู คุ้นตาขึ้นมาทันที ทั้งนี้เนื่องจาก อาการเหล่านี้ เป็นอาการที่ถูกกล่าวไว้บ่อยมาก ๆ ในตำรายาไทย หรือยาแผนโบราณต่าง ๆ ดังนั้น โรคกรดไหลย้อนเองจริง ๆ แล้วจึงไม่ใช่โรคที่ประหลาดหรือหายากแต่ประการใด

โอกาสที่เราจะพบโรคนี้ มีประมาณ 5-7% ของประชากร นั่นก็คือ ถ้าเมืองไทยมีคนอยู่หกสิบล้านคน  ก็จะมีประมาณสามล้านคนเลยทีเดียว ก็นับได้ไม่ใช่น้อยเลยนะครับ  หนึ่งในนั้นอาจจะเป็นญาติพี่น้องเรา หรือคนที่เรารู้จักก็เป็นได้

โรคกรดไหลย้อนนี้ ภาษาอังกฤษ เขาเรียกว่า Gastroesophageal reflux disease หรือ GERD แปลเป็นภาษาไทยง่าย ๆ ว่า โรคที่เกิดจากการไหลย้อนกลับของน้ำย่อยในกระเพาะอาหาร เข้าสู่หลอดอาหารนั่นเองครับ

โดยปกติธรรมดาแล้ว เมื่อเรารับประทานอาหาร เราจะกลืนอาหารผ่านเข้าไปในหลอดอาหาร และผ่านต่อไปยังกระเพาะ โดยที่จะไม่ไหลย้อนกลับมาอีก ไม่ว่า เราจะกลืนอาหารนั้น ๆ ในท่านั่งหรือนอน หรือตีลังกากลับหัวอย่างไรก็ตาม อาหารก็จะเดินทางจากหลอดอาหารไปสู่กระเพาะเสมอ ทั้งนี้เนื่องจาก โดยปกติจะมีการบีบรัดตัวของหลอดอาหารไปในทางที่ไปสู่กระเพาะ โดยไม่มีการบีบย้อนกลับมา และในขณะเดียวกัน ก็จะมีกล้ามเนื้อหูรูคอยรัดอยู่ที่ส่วนต่อระหว่างหลอดอาหารกับกระเพาะ ทำให้อาหารไหลย้อนกลับไม่ได้

ในโรคกรดไหลย้อน ขบวนการนี้ได้ถูกรบกวนและผิดปกติไป อาจจะเนื่องจากเกิดผิดปกติที่กล้ามเนื้อหูรูดดังกล่าว ทำให้ปิดได้ไม่สนิท เช่นเกิดเป็นแผลขึ้นบริเวณนั้น เกิดเป็นก้อนขึ้นมา หรือกล้ามเนื้อเกิดหย่อนยานลง คลายตัวลงทำให้บีบรัดได้ไม่แน่นเหมือนเก่า หรือเป็นความผิดปกติทางด้านกระเพาะ ที่มีอาหารมากเกินไป จนไปดันที่หูรูดด้วยความแรงที่มากกว่าปกติ จนกระทั่งหูรูดเปิดออกบางส่วน น้ำย่อยในกระเพาะบางส่วนจึงเล็ดรอดไปสู่หลอดอาหารได้ หรือเกิดจากไส้เลื่อนกระเพาะ(hiatal hernia) นั่นก็คือโรคที่กระเพาะอาหารบางส่วนกลายเป็นคล้าย ๆ ไส้เลื่อน คือตัวกระเพาะได้เลื่อนเล็ดรอดเข้าไปอยู่ในทรวงอก และไปปล่อยน้ำย่อยออกมาบริเวณนั้น หลอดอาหารนั้นธรรมดาไม่มีกรดอยู่ ดังนั้น ผิวด้านในของหลอดอาหาร จึงไม่ได้ถูกสร้างไว้เพื่อรองรับกรดดังกล่าว จึงไม่มีเยื่อเมือกเพื่อป้องกันมัน น้ำกรดจึงกัดกร่อนหลอดอาหารไปเรื่อย ๆ และก่อให้เกิดอาการปวดแสบร้อนบริเวณที่มันไปถึง เช่น ลิ้นปี่ หน้าอก หรือลำคอเลยก็ได้ น้ำกรดยังทำลายชั้นพื้นผิวหลอดอาหาร ทำให้เกิดเป็นแผลที่หลอดอาหารได้เช่นกัน หลอดอาหารก็จะพยายามป้องกันตัวเอง โดยการบีบรัดหูรูดให้แน่นมากขึ้น ทำให้เรากลืนอาหารลำบาก กลืนไม่เข้า หรือกลืนแล้วเจ็บมากขึ้น บางครั้งอาจจะมีพวกน้ำดี เข้ามาปนอยู่ด้วย ทำให้รู้สึกขม ๆ หรือถ้าเป็นกรด และอาหารที่ยังไม่ย่อย ก็จะทำให้มีกลิ่นเหม็นเปรี้ยว  ดังนั้น คำพูดที่ว่า ท้องอืดเฟ้อ เรอเหม็นเปรี้ยว ตามคำโบราณนั้น จึงเป็นอาการที่อธิบายโรคกรดไหลย้อนได้อย่างดีมาก ๆ ทีเดียวครับ 

นอกจากนี้ อาจจะทำให้เกิดการอักเสบของทรวงอกได้ ถ้าน้ำย่อยเข้าไปในหลอดลมก็เกิดอาการไอ หรือกลายเป็นหอบหืดได้เช่นกันครับ

ส่วนมากอาการจะเกิดขึ้นหลังจากเราทานอาหารไปใหม่ ๆ โดยที่กระเพาะยังไม่ได้ย่อยอาหารและยังไม่ได้ขับอาหารออกจากกระเพาะไปยังลำไส้เล็ก ซึ่งใช้เวลาประมาณสองถึงสามชั่วโมงหลังรับประทานอาหารแล้ว พอหลังจากอาหารออกไปจากกระเพาะแล้ว อาการก็จะหายไป คนไข้ก็จะรู้สึกดีขึ้น

การรักษานอกจากให้ยาลดกรด และยาที่ช่วยให้หูรูดทำงานดีขึ้นแล้วสิ่งที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งก็คือ การเปลี่ยนแปลงนิสัยการรับประทานอาหารเสียใหม่นั่นเองครับ โดยไม่รับประทานอาหารพวก ชา กาแฟ หรือเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ต่าง ๆ พยายามรับประทานอาหารให้น้อยลง ไม่รับประทานจนอิ่มแน่นเกินไป โดยรับประทานอาหารเพียงหนึ่งในสามของกระเพาะอาหาร และในมื้อเย็นนั้น ก็ต้องรับประทานแต่เนิ่น ๆ และรอจนกว่าจะเกินสามชั่วโมงก่อนจึงจะเข้านอน โดยในระหว่างนั้นจะไม่มีการรับประทานสิ่งใดอีกเลย เท่านี้ก็สามารถป้องกัน และรักษาโรคกรดไหลย้อนได้เป็นส่วนใหญ่แล้วครับ  แต่ถ้ารักษาแบบนี้แล้วยังไม่ดีขึ้น อาจจะต้องรบกวนแพทย์ เพื่อทำการผ่าตัดกระเพาะและหูรูดเพื่อช่วยให้มันทำงานได้เป็นปกติแล้วละครับ

และวิธีการรักษาแบบนี้ เป็นสิ่งที่ท่านศาสดามุฮัมมัด (ศ็อลฯ) ได้แนะนำไว้แล้วในฮะดีษที่ว่า “มนุษย์นั้น ไม่ควรจะใส่อาหารลงในภาชนะมากกว่าขนาดกระเพาะของเขา เพราะสำหรับมนุษย์นั้น การรับประทานอาหารเพียงไม่กี่คำก็เพียงพอที่เขาจะมีชีวิตอยู่ได้แล้ว และถ้าหากเขาต้องรับประทานจนเต็มกระเพาะ ก็ให้รับประทานเป็นอาหาร หนึ่งในสามส่วน เป็นน้ำหนึ่งในสามส่วน และอีกหนึ่งส่วนเป็นลมหายใจของเขาเอง”      
ดังนั้น การทำตามฮะดีษนี้ จึงเป็นการกระทำที่ได้บุญและยังสามารถรักษาโรคกรดไหลย้อนอย่างได้ผลอย่างยิ่งด้วยครับ



สุขสาระออนไลน์ ฉบับที่ 242
เดือนเมษายน 2568
มูลนิธิสร้างสุขมุสลิมไทย (สสม.)
www.muslim4health.or.th

ความคิดเห็น