นายแพทย์กษิดิษ ศรีสง่า
ผู้เขียนมีผู้ป่วยคนหนึ่งเป็นชาวอาหรับ อายุประมาณ 50 กว่าปี มาพบแพทย์ ด้วยอาการปัสสาวะแสบขัด และอักเสบบ่อย ๆ ไปรักษามาหลายที่ไม่หาย จึงมาที่โรงพยาบาล หลังจากตรวจร่างกายโดยละเอียด ก็ยังไม่พบอะไรผิดปกติ แต่พอทำอัลตราซาวด์ท้อง กลับพบว่ามีก้อนที่บริเวณกระเพาะปัสสาวะ และกระเพาะปัสสาวะมีรอยรั่วด้วย จึงมีการส่องกล้องเข้าไปในกระเพาะปัสสาวะ พบว่ามีรูทะลุเข้าไปยังลำไส้ใหญ่ จึงได้เอาชิ้นเนื้อไปตรวจ และผลชิ้นเนื้อที่ออกมาบอกว่าเป็นกระเพาะปัสสาวะอักเสบ โดยไม่พบมะเร็งในชิ้นเนื้อที่ตัดออกไป
แต่อย่างไรก็ตาม เนื่องจากประสบการณ์อันยาวนานของแพทย์ผู้รักษา ได้บอกกับผู้ป่วยว่า ลักษณะการทะลุเข้ามาเช่นนี้ไม่ธรรมดา โรคติดเชื้อธรรมดาไม่เคยพบว่า ทำให้เนื้อทะลุเข้าไปได้ ดังนั้น จะมาทำเย็นใจรักษาด้วยยาแบบโรคติดเชื้อธรรมดาไม่ได้ จึงมีทางเดียวต้องผ่าตัดเอาก้อนเนื้อนี้ออกจึงจะปลอดภัยที่สุด
ในการผ่าตัด พบว่า ตัวกระเพาะปัสสาวะส่วนหนึ่ง และลำไส้ใหญ่ส่วนหนึ่งติดกันเป็นก้อน การตัดก้อนนี้ ใช้แนวคิดแบบตัดมะเร็ง คือ การตัดเผื่อให้ออกไปกว้างกว่าบริเวณที่เป็นจริง เพื่อที่จะกำจัดตัวมะเร็งให้หมด แม้ผลชิ้นเนื้อที่ตรวจตอนแรกจะไม่พบเซลล์มะเร็งก็ตาม ตัวลำไส้ใหญ่เองไม่มีปัญหา เพราะมีความยาวมาก สามารถเลาะเอามาต่อได้ แต่ตัวกระเพาะปัสสาวะนั้น เมื่อตัดส่วนที่เป็นก้อนออกไปแล้วเหลือเพียงนิดเดียวเท่านั้น จึงต้องใส่สายสวนปัสสาวะทางหน้าท้องเพื่อให้ระบายปัสสาวะออกไปก่อนจนกว่าแผลจะหายสนิท และแผลผ่าตัดแข็งแรงดี จึงค่อย ๆ ถอดสายออกและให้ผู้ป่วยปัสสาวะเอง
หลังจากผ่าตัดได้ไม่กี่วัน ผู้ป่วยก็เริ่มรับประทานอาหารได้และทำกายภาพได้ ปัสสาวะได้ดี เพียงแต่ต้องปัสสาวะบ่อยหน่อย เนื่องจากกระเพาะปัสสาวะเล็กลงมากนั่นเอง
พอผลชิ้นเนื้อออกมา ปรากฏว่าเป็นมะเร็งที่ลำไส้ใหญ่ และลามเข้าไปในกระเพาะปัสสาวะ จนเกิดเป็นรูทะลุ ถือได้ว่าเป็นระดับสาม ต้องทำการรักษาต่อโดยการใช้เคมีบำบัดต่อไป
เรื่องนี้เป็นอุทาหรณ์ที่ดี ในหลาย ๆ อย่าง อย่างแรกนั่นก็คือ แม้คนทั่วไปคิดว่า ผลชิ้นเนื้อที่ออกมาโดยทางพยาธิวิทยา จะถือว่าแม่นยำเที่ยงตรงที่สุดแล้วก็ตาม ก็ยังอาจจะมีการผิดพลาดได้ ถ้าหากชิ้นเนื้อที่ถูกนำไปตรวจนั้น ไม่ใช่บริเวณที่เป็นมะเร็งจริง คือเอาชิ้นเนื้อผิดที่ไปให้ตรวจนั่นเอง ซึ่งจะพบได้บ่อย เวลาแพทย์เอาเนื้อเพียงส่วนใดส่วนหนึ่งออกไปตรวจ โดยถือว่าชิ้นส่วนเล็ก ๆ นั้น คือ ตัวแทนของทั้งก้อน ซึ่งส่วนมากจะถูกต้อง แต่ก็มีบางส่วนเช่นกันที่ผิดพลาดได้ ดังนั้น การจะเชื่อหลักฐานใด ๆ จึงต้องมีข้อมูลเบื้องต้นที่ถูกต้องก่อนเสมอ จึงจะทำให้ผลที่ออกมามีความถูกต้องน่าเชื่อถือได้ แน่นอน ถ้าแพทย์เชื่อถือผลตรวจนั้นโดยไม่พิจารณาจุดอื่นอีก ผู้ป่วยก็คงได้รับการรักษาที่ถูกต้องช้าลงไป และอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้
อย่างที่สองก็คือสิ่งที่จะช่วยแก้ไขความผิดพลาดนี้ได้ ก็คือ ประสบการณ์ และความรอบคอบของแพทย์ผู้ให้การรักษานั่นเอง ที่จะต้องพบกับผู้ป่วยเช่นนี้มามาก ๆ จนคุ้นเคยกันดี จนสามารถจับได้ว่า ผลชิ้นเนื้อที่ได้นั้น ไม่น่าจะถูกต้องตรงกับความเป็นจริง ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะได้มาจากการทำงานที่ละเอียด รอบคอบ และประสบการณ์ที่ยาวนานเท่านั้น มีคำกล่าวของแพทย์อาวุโสที่สอนรุ่นน้องอยู่เสมอ ๆ ว่า ให้รักษาคนไข้ อย่างไปรักษาผลแล็บ (lab) ซึ่งหมายความถึงให้ดูผู้ป่วยเป็นหลัก ไม่ใช่ดูเฉพาะผลชิ้นเนื้อ ผลเลือด หรือตัวเลขต่าง ๆ เป็นหลัก แล้วพยายามรักษาตัวเลขเหล่านั้น ให้อยู่ในระดับปกติ ซึ่งวิธีการรักษาตัวเลขนี้เกิดขึ้นเพราะแพทย์ใหม่ ๆ จะไม่ค่อยมั่นใจในวิจารณญาณของตัวเอง จึงต้องพึ่งพาตัวเลข หรือผลตรวจต่าง ๆ เป็นหลัก มักไม่กล้าที่จะขัดแย้งกับผลตรวจเหล่านั้น แต่ในชีวิตจริงจะพบเสมอว่า เมื่อพยายามไล่ตามรักษาตัวเลขใดเลขหนึ่งเพียงตัวเดียว ตัวเลขอื่น ๆ ที่เหลือ ก็จะเริ่มรวนไปเรื่อย ๆ และสภาพผู้ป่วยก็จะแย่ลงเรื่อย ๆ เช่นกัน วิธีการรักษาที่ถูกต้องจึงต้องประกอบด้วยการดูทั้งตัวผู้ป่วย และตัวเลขต่าง ๆ ไปพร้อม ๆ กัน ให้อยู่ในระดับที่พอใช้ได้ทั้งคู่ จึงสามารถประคับประคองผู้ป่วยให้ได้รับการรักษาที่ดีได้
แต่อย่างไรก็ตาม สิ่งที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งก็คือการทำความเข้าใจกับผู้ป่วยให้เข้าใจอย่างถูกต้องถึงสภาวะที่ตัวเองน่าจะเป็นที่สุด ตามความเห็นของแพทย์เพื่อให้เกิดความเข้าใจตรงกัน และเดินไปด้วยกัน เนื่องจากการรักษาโดยไม่ยึดติดกับตัวเลข และการใช้วิจารณญาณแบบนี้ ถ้าไม่มีประสบการณ์มาก่อน หรือประสบการณ์ไม่พอ ก็สามารถทำให้ผิดพลาดได้เช่นกัน เพราะเราทำงานกับคนซึ่งเป็นสิ่งที่พระผู้เป็นเจ้าสร้างขึ้น มีความซับซ้อน มีความหลายหลายอยู่มากมาย ไม่ได้ทำงานกับเครื่องจักร ซึ่งเป็นสิ่งที่มนุษย์สร้างที่มักจะถูกออกแบบมาให้เหมือนกันหมดในทุก ๆ ด้าน ดังนั้น การพูดคุยทำความเข้าใจกับผู้ป่วยและญาติ ถึงแนวทางการรักษาที่แพทย์จะทำเพื่อให้เกิดความยินยอมพร้อมใจ จึงเป็นสิ่งที่สำคัญเสมอที่มักถูกละเลยไป ทำให้เกิดความไม่เข้าใจกันระหว่างแพทย์และผู้ป่วยหรือญาติ เกิดการฟ้องร้องหรือร้องเรียน เพื่อป้องกันตัวเอง แพทย์หลาย ๆ ท่าน จึงพยายามเลี่ยงไม่ใช้วิจารณญาณและประสบการณ์ แต่รักษาด้วยตัวเลขเป็นหลัก เพราะสามารถอ้างอิงได้ และเป็นหลักฐานยืนยันในชั้นศาลได้ ทำให้ตัวเองพ้นผิดได้ ผลสุดท้ายคือผลเสียที่เกิดขึ้นทั้งกับผู้ป่วยเอง และแพทย์ รวมทั้งระบบสาธารณสุขทั้งระบบ
เหล่านี้เป็นสิ่งที่ควรจะต้องนำมาคิดทบทวนแก้ไขกันทั้งสองฝ่าย เพื่อให้เกิดผลที่ดีที่สุดในการรักษาผู้ป่วย วิธีการแก้ไขอย่างหนึ่งก็คือการยอมรับว่าแพทย์เป็นเพียงบุคคลคนหนึ่งที่มีความรู้ระดับหนึ่งเกี่ยวกับร่างกายของมนุษย์ แต่อย่างไรก็ตามร่างกายของมนุษย์นั้น เป็นสิ่งที่พระผู้เป็นเจ้าสร้างขึ้น มีความสลับซับซ้อนมากมายจนไม่อาจคาดคะเนได้ ดังนั้นความผิดพลาดจึงสามารถเกิดขึ้นได้เสมอ ที่สำคัญที่สุดคือถ้าแพทย์ให้ความเอาใจใส่อย่างเต็มที่และสุดความสามารถแล้ว ผู้ป่วยและญาติก็ควรยอมรับผลที่จะเกิดตามมา และแพทย์เองก็จะต้องดูแลรับผิดชอบหน้าที่ของตนเองอย่างดีที่สุด รอบคอบที่สุด เพื่อให้เกิดความผิดพลาดน้อยที่สุดเช่นกัน
สุขสาระออนไลน์ ฉบับที่ 242
เดือนเมษายน 2568
มูลนิธิสร้างสุขมุสลิมไทย (สสม.)
www.muslim4health.or.th
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น