นพ.กษิดิษ ศรีสง่า
ท่านผู้ชื่นชอบดูภาพยนตร์ทั้งหลาย คงมีหลายท่านที่ชอบภาพยนตร์แบบแอคชั่น บู๊ดุเดือด บางครั้งพระเอกก็เก่งเหลือเกิน ตัวคนเดียวสามารถปราบผู้ร้ายหลายคนได้อย่างง่ายดาย ทำให้พระเอกคนนั้นกลายเป็นฮีโร่ของเรื่องไป
บางครั้งในภาพยนตร์ พระเอกเองอาจจะไม่ใช่แค่นักบู๊ล้างผลาญเพียงอย่างเดียว แต่ยังมีวิชาการ มีความรู้เล็ก ๆ น้อย ๆ ทางการแพทย์ ที่สามารถจะช่วยคนให้รอดพ้นจาก โรคภัยไข้เจ็บบางอย่าง หรือช่วยชีวิตฉุกเฉินของ พ่อแม่นางเอกเป็นต้น ทำให้นางเอกประทับใจ และเกิดความรักพระเอกในที่สุด
ในหนังฝรั่งนั้น บางทีก็มีเรื่องเกี่ยวกับการแพทย์ให้เราได้ดูและจดจำไปใช้ในชีวิตจริงได้เช่นกัน และอาจจะทำให้เราได้เป็นพระเอกในชีวิตจริงของใครบางคน ทำให้เรื่องราวชีวิตของเราได้จบแบบแฮปปี้เอนดิ้งแบบในหนังบ้างก็ได้
มีโรคอยู่โรคหนึ่ง ที่สามารถ ทำให้เรากลายเป็นพระเอก หรือผู้ช่วยชีวิตฉุกเฉินได้ แม้เราจะไม่ได้มีกล้ามเป็นมัด ๆ ไม่ได้กระโดดสูงเท่าตึกสามชั้น ไม่ได้มีพละกำลังมากมายเท่าซุปเปอร์แมน เพียงแต่เรามีความรู้ความเข้าใจทางด้านการแพทย์เล็กน้อยก็ช่วยได้ โรคนั้นก็คือ “โรคลมรั่วในช่องเยื่อหุ้มปอด” ครับ
ปกติแล้ว ปอดคนเรานั้น จะอยู่เต็มทั้งสองข้างของทรวงอก มีบางส่วนของด้านซ้ายที่เป็นที่อยู่ของหัวใจ ภายในปอดทั้งหมดเหมือนกับต้นไม้ ที่มีกิ่งก้านสาขาแตกแขนงมากมาย เพียงแต่ตัวต้นไม้เหล่านั้นทั้งหมดเป็นรูกลวง ต่อถึงกันตั้งแต่ตัวลำต้น จนไปถึงกิ่งต่าง ๆ ไม่ตันเหมือนเนื้อต้นไม้ธรรมดาเท่านั้นเอง
อากาศจะเข้ามายังจมูก ไปยังหลอดลม แล้วแยกเป็นซ้ายขวาจนไปถึงแขนงเล็กที่สุด ตรงปลายจะเป็น ถุงเล็กพอง ๆ ข้างในมีลมอยู่เรียกว่า “ถุงลม” ตรงบริเวณนี้เองที่เป็นที่แลกเปลี่ยนออกซิเจน และคาร์บอนไดออกไซด์ ในกระแสเลือด
ปอดทั้งสองข้างนั้น จะอยู่ในถุงบาง ๆ ข้างในถุงเป็นสุญญากาศไม่มีอากาศอยู่เลย เราเรียกว่า เยื่อหุ้มปอด ถ้าเมื่อใดก็ตามที่เกิดมีลมในถุงบาง ๆ นี้ มันก็จะกดปอดข้างนั้นให้ฟีบลง แล้วใช้การไม่ได้ในที่สุด
“โรคลมรั่วในเยื่อหุ้มปอด” ก็คือ การที่พื้นที่ระหว่างเยื่อหุ้มปอดกับปอด เกิดมีลมขึ้นมา ทำให้ลมนั้น กดปอดจนฟีบลง ผู้ป่วยจะหายใจได้ด้วยปอดเพียงข้างเดียว และมีอาการเหมือนหายใจไม่พอ หอบเหนื่อย มีอาการเจ็บที่หน้าอกอย่างรุนแรง จนทำให้ไม่อยากหายใจ หรือหายใจตื้นๆเร็วๆเท่านั้น เพื่อให้ปอดขยับน้อยที่สุด ถ้าไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้อง จะทำให้หายใจได้ไม่พอและเสียชีวิตในที่สุด
บางครั้งลมรั่วเกิดจากเนื้อปอดเอง ที่แตกออก ทำให้เกิดลมรั่วในเยื่อหุ้มปอด เช่นคนที่ไอมาก ๆ ไอเรื้อรัง จนถุงลมของปอดแตกออก เป็นต้น จากโรคถุงลมโป่งพอง วัณโรค สูบบุหรี่จัด ก็เป็นได้ แต่บางครั้งก็พบว่าเป็นขึ้นมาเองโดยไม่มีสาเหตุ และมักพบในคนหนุ่ม ๆ ผอม ๆ สูง ๆ อายุ 20-40 ปี เท่านั้นเอง
ดังนั้น การแก้ไขจึงต้องรวดเร็วและทันเวลา โดยมีจุดมุ่งหมายไม่ให้ลมค้างอยู่ในเยื่อหุ้มปอด หรืออย่างน้อยที่สุดก็ต้องไม่มีเพิ่มขึ้น เพื่อยืดเวลาก่อนไปพบแพทย์
วิธีง่ายๆอย่างหนึ่งก็คือ ถ้าหาก พบใครที่ถูกไม้แหลม หรือมีดปักอยู่ที่ทรวงอก ห้ามดึงเอาออกเด็ดขาด เพราะจะทำให้เกิดเป็นลิ้นทางเดียว ลมจะวิ่งเข้าเยื่อหุ้มปอดอย่างเดียวโดยออกไม่ได้ ต้องปล่อยทิ้งไว้เช่นนั้นก่อน ถ้าหากผู้ป่วยมีอาการหอบเหนื่อยก็จะต้องช่วยโดยการเปิดช่องให้ลมวิ่งเข้าออกได้ โดยการใช้เข็มฉีดยาเบอร์ใหญ่ ๆ เสียบเข้าไปที่หน้าอก จะทำให้ลมนั้นรั่วออกมาข้างนอกได้ทำให้การกดของปอดน้อยลง ไม่เป็นอันตรายต่อผู้ป่วย หลังจากนั้น ก็รีบนำผู้ป่วยไปส่งโรงพยาบาลโดยเร็วที่สุดเพื่อให้การรักษาที่ถูกต้องต่อไป
ส่วนการใช้มีดกรีดที่ทรวงอก เพื่อเปิดหน้าอกและเอาบางสิ่งเช่นไม้ไปยัดเอาไว้เพื่อให้ลมรั่วได้นั้น คงทำได้เพียงในหนังเท่านั้นเองครับ คงนำมาใช้ในชีวิตจริงไม่ได้ เพราะการทำเช่นนั้น จะทำให้มีเลือดออกจากบริเวณทรวงอกที่ผ่าไว้จนเสียชีวิตได้ รวมทั้งอาจเกิดการติดเชื้อ อักเสบหลังจากนั้น ทำให้เสียชีวิตได้เช่นกัน ดังนั้น แทนที่จะได้เป็นพระเอก ก็จะกลายเป็นคนร้ายไปเสียง่ายๆ
ดังนั้นคงต้องระวังในการช่วยเหลือคนป่วยเหล่านี้พอสมควร เพื่อช่วยให้ผู้ป่วยรอดชีวิต และไม่เกิดอันตรายเพิ่มขึ้นกับผู้ป่วยนั้น ๆ ครับ
เมื่อไปถึงมือแพทย์ แล้วแพทย์จะเป็นผู้ใส่ท่อเพื่อนำลมรั่วออกมาให้หมด โดยต่อกับทรวงอก แล้วไปออกที่ปลายท่อที่อยู่ในขวดน้ำให้อากาศออกใต้น้ำนั้น เพื่อป้องกันไม่ให้อากาศกลับเข้ามาอีก ทำดังนี้จนกว่าปอดจะขยายตัวดีแล้ว จึงเอาออกได้ และก็จะหายดีในที่สุด แต่บางครั้งก็กลับเป็นใหม่ได้อีกเหมือนกัน
ถ้าไม่หายก็ต้องช่วยด้วยการผ่าตัด ซ่อมแซมจุดรั่วต่อไป หรืออาจจะใช้สารบางอย่างฉีดเข้าไปในช่องเยื่อหุ้มปอด เพื่อให้เกิดการติดกับเนื้อปอด เพื่อไม่ให้เกิดการยุบตัวลงอีก ไม่ให้มีลมรั่วมาอีก
“โรคลมรั่วในเยื่อหุ้มปอด” จึงเป็นโรคที่รักษาได้ และเราสามารถช่วยเหลือเบื้องต้นได้พอสมควรทีเดียวครับ
สุขสาระออนไลน์ ฉบับที่ 242
เดือนเมษายน 2568
มูลนิธิสร้างสุขมุสลิมไทย (สสม.)
www.muslim4health.or.th
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น