คนเป็นโรคเบาหวานต้องดูแลเท้าให้ดี

พบหมอจินตนา

แพทย์หญิงจินตนา โยธาสมุทร

นิลเป็นชายอายุ 47 ปี มีอาการปวดแปลบ ปวดแสบปวดร้อน บริเวณเท้าทั้งสองข้างมานานประมาณ 2 ปี เมื่อเขาเอามือแตะเท้าเบา ๆ จะรู้สึกปวดขึ้นมาทันที มีอาการชาเริ่มจากปลายเท้า และชาสูงขึ้นมาเรื่อย ๆ เขาเริ่มสังเกตว่า นิ้วเท้าบริเวณด้านขวา เริ่ม เก โก่ง งุ้ม มีตาปลาเกิดขึ้นบริเวณด้านขวา เริ่มปวดขาเวลาเดิน อาการจะทุเลาขึ้นเมื่อปล่อยเท้าให้ห้อยลง แต่อาการปวดขาจะรุนแรงมากขึ้นในช่วงเวลากลางคืน ผิวของเขาแห้งแตก มีเหงื่อออกน้อยลง ผิวเย็นและเมื่อยกขาให้สูง ผิวดูซีดลง แต่เมื่อห้อยขาลงผิวดูมีสีแดงมากขึ้น

นิลเป็นแผลตาปลาที่นิ้วหัวแม่เท้าขวามานาน 2-3 ปี ต่อมหนังด้านเนื้อตาย และเกิดเป็นแผล เขาได้พยายามใส่ยาชนิดต่าง ๆ เพื่อรักษาแผลเอง แต่แผลไม่หาย กลับมีขอบแผลสีดำกะรุ่งกะริ่งมีกลิ่นเหม็น เขาจึงไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาลของรัฐแห่งหนึ่ง แพทย์ตรวจดูแผลแล้ว จึงขอตรวจเลือด และพบว่าเขาเป็นโรคเบาหวาน แพทย์ได้ให้ยาควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในเกณฑ์ปกติมารับประทาน ให้ควบคุมอาหาร ให้ออกกำลังกาย สั่งให้ทำความสะอาดแผลที่โรงพยาบาลทุกวันตามนัด สั่งห้ามไม่ให้ทำแผลเองที่บ้าน แพทย์ได้ติดตามดูแลเป็นระยะ ๆ อย่างใกล้ชิด พร้อมแนะนำว่ายังคงมีผู้ป่วยจำนวนมาก ซึ่งประสบปัญหาเกี่ยวกับเท้า แล้วจึงทราบว่าตนเองเป็นโรคเบาหวาน เบาหวานจึงเป็นปัญหาทำให้เท้าเป็นแผล ติดเชื้อเป็น ๆ หายๆ ทำให้เล็บขบ เป็นหนองง่าย ผิวหนังบริเวณเท้าที่ถูกกดอยู่นาน ๆ จะเกิดตาปลาหรือหนังด้าน เมื่อถูกกดต่อไปนาน ๆ จะเกิดเนื้อตายเป็นแผล ทำให้เชื้อโรคเข้าสู่แผลและเข้าสู่ร่างกายได้ง่าย ถ้าดูแลรักษาไม่ดีตั้งแต่ระยะเริ่มแรก แผลจะกำเริบมากขึ้นอาจนำไปสู่การตัดขาทิ้ง ถ้าบางคนเสียดายไม่ยอมตัดขาทิ้งไปอาจจะทำให้ถึงแก่เสียชีวิตได้

นิลเล่าให้แพทย์ฟังว่า เขามักจะมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสียบ่อย แพทย์อธิบายว่า การที่เป็นเช่นนี้ เนื่องจากระบบประสาทอัตโนมัติของคนที่เป็นเบาหวานเสื่อมลง ทำให้เสียความรู้สึกเจ็บ  ความรู้สึกสัมผัส ร้อน เย็น ประสาทควบคุมกล้ามเนื้อของเท้าเสื่อมลง ทำให้เท้ามีรูปร่างผิดปกติ มีการเปลี่ยนแปลงของหลอดเลือด และระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายด้วย

นิลไปทำแผลที่โรงพยาบาลทุกวันนานประมาณ 2 เดือน จนแผลหายสนิทดี เขารับประทานยาควบคุมเบาหวานอย่างสม่ำเสมอ แพทย์แนะนำให้เขาตรวจดูเท้าตนเองทุกวัน ถ้าพบมีอาการบวม แดง อักเสบ ติดเชื้อ ปวด ชา มีความรู้สึกผิดปกติที่ส่วนหนึ่งส่วนใดของเท้าให้รับปรึกษาแพทย์ทันที  แพทย์แนะนำให้เขาล้างเท้าทุกวันด้วยน้ำและสบู่อ่อน ถ้าอากาศหนาวให้ใช้น้ำอุ่น โดยตรวจสอบดูให้แน่ใจว่าน้ำไม่ร้อนจนเกินไป ให้ถูเท้าด้วยผ้าหรือแปรงที่มีขนอ่อนนุ่มเบา ๆ เมื่อล้างเท้าเสร็จแล้วให้เข็ดเท้าโดยเฉพาะตามซอกนิ้วให้แห้ง ให้ใช้ผ้าขนหนูหนา ๆ ซับเบา ๆ ทาผิวบริเวณเท้า โดยเฉพาะบริเวณสันเท้าด้วยครีมหรือโลชั่นทาผิว ถ้ามีเหงื่อออกที่เท้ามากให้โรยด้วยแป้งก่อนสวมรองเท้า ใช้ถุงเท้าเนื้อเรียบไม่มีตะเข็บข้างใน ไม่รัดแน่นจนเกินไป อย่าให้มีแถบยางยืดที่รัดปลายถุงเท้า ควรใช้ถุงเท้าใหญ่มีความยาวเลยนิ้วเท้าออกไปประมาณครึ่งนิ้วและเมื่อซื้อรองเท้าใหม่ ควรเลือกรองเท้าที่มีหนังนิ่ม ไม่คับ ไม่บีบส่วนใดส่วนหนึ่งของเท้า ตรวจดูภายในรองเท้าทุกวันอย่าให้มีเศษสิ่งแปลกปลอม กรวด ทราย ซึ่งอาจทำให้เท้าบาดเจ็บ ถ้าเคยมีปัญหาเกี่ยวกับรองเท้า อาจต้องวัดรองเท้าตัดรองเท้าเอง ควรลองสวมรองเท้าในช่วงเวลาบ่ายหรือเย็น เนื่องจากเท้าจะโตบวมมากกว่าช่วงตื่นนอนตอนเช้าเพื่อเลือกไซร้ขนาดของเท้าที่มีความเหมาะสม ถ้าจำเป็นจะต้องใส่รองเท้าคู่ใหม่ ให้ค่อย ๆ เริ่มใส่ โดยใส่สลับกับคู่เก่า แรก ๆ อาจใส่นาน 1-2 ชั่วโมงก่อน แล้วจึงค่อย ๆ เพิ่มเวลาให้นานขึ้น

แพทย์แนะนำต่อไปว่า สำหรับการดูแลรักษาเท้าของคนที่เป็นเบาหวานนั้น อย่าให้ช่างทำเล็บแคะเล็บ เราะเล็บ อย่าตัดหูด ตัดตาปลาหรือหนังด้านออกเอง อย่าใช้ยาชนิดใดไปกัด จนกว่าจะปรึกษากับแพทย์แล้วว่าสามารถทำได้ อย่าแช่เท้าในน้ำ อย่าใช้น้ำร้อน แผ่นร้อนกับเท้า อย่าใช้เครื่องนวดเท้า อย่าเดินเท้าเปล่า อย่าติดพลาสเตอร์เหนียวหรือใช้สารเคมีใด ๆ บนผิวหนังเท้า อย่าสวมรองเท้าที่เปียก อย่าสวมรองเท้าแตะ อย่าสวมรองเท้าที่กัดหรือไม่สบาย อย่าสวมรองเท้าโดยไม่สวมถุงเท้า อย่าสูบบุหรี่ เนื่องจากจะมีผลกระทบต่อการไหลเวียนของเลือดไปยังบริเวณเท้า

การดูแลเท้านับว่ามีความสำคัญมีความละเอียดอ่อน บ่อยครั้งพบว่าเท้าจะถูกละเลยในการดูแล ทำให้โรคลุกลามมากขึ้น จนถึงขั้นทำให้พิการหรือเสียชีวิตได้ในเวลาต่อมา


สุขสาระออนไลน์ ฉบับที่ 244
เดือนมิถุนายน 2568
มูลนิธิสร้างสุขมุสลิมไทย (สสม.)
www.muslim4health.or.th 

ความคิดเห็น