แพทย์หญิงจินตนา โยธาสมุทร
เด็กชายปลาอายุ 5 ปีครึ่ง เป็นนักเรียนในโรงเรียนอนุบาลแห่งหนึ่งมีรายงานจากคุณครูประจำชั้นไปถึงพ่อแม่ของเขาว่า ปลาไม่สามารถจำรายละเอียดของงานที่ครูมอบให้ทำได้ เขามักทำผิดอย่างต่อเนื่อง ขาดความรอบคอบ ไม่มีสมาธิในการทำงาน ในการเล่น ไม่สนใจฟังคำพูดของใคร ไม่ตั้งใจฟัง ทำให้งานในห้องเรียนหรือการบ้านที่ครูมอบหมายให้ไปทำไม่สำเร็จ นอกจากนั้นเขายังทำงานไม่เป็นระเบียบ ไม่เต็มใจทำ มักหลีกเลี่ยงการทำงานที่ต้องใช้ความคิด มักทำของใช้ส่วนตัวหรือของจำเป็นสำหรับงานหรือการเรียนหายบ่อย ๆ จะวอกแวกง่าย ขี้ลืมบ่อย มีอาการหยุกหยิก อยู่ไม่สุข ชอบขยับมือขยับแขนไปมา ชอบลุกจากที่นั่งเวลาอยู่ในห้องเรียน หรือในสถานที่ ๆ จำเป็นต้องนั่งเฉย ๆ ชอบวิ่ง ชอบปีนบ่ายตามสิ่งต่าง ๆ ไม่สามารถนั่งเงียบ ๆ หรือทำกิจกรรมเงียบ ๆ ได้ ชอบเคลื่อนไหวอยู่ตลอดเวลา เป็นเด็กพูดมาก พูดไม่หยุด ชอบโพล่งคำพูดโดยไม่ฟังคำถามให้จบก่อน ไม่ชอบการเข้าคิวหรือการรอคอย ชอบขัดจังหวะสอดแทรกเวลาคนอื่นกำลังคุยกัน และชอบแย่งของเล่นเพื่อนมาเล่น จนทำให้ครูสงสัยว่าเขาน่าจะเป็นโรคบางชนิด ซึ่งควรจะให้แพทย์ทำการวินิจฉัยดูบ้าง
เมื่อพ่อแม่พาปลาไปพบแพทย์ แพทย์ได้ตรวจเพื่อค้นหาสาเหตุว่าเขามีพัฒนาการปกติหรือไม่ แพทย์ไม่พบว่าปลาเป็นโรคทางสมอง เช่น ออทิสติก และ ปัญญาอ่อน เขาไม่เคยได้รับอุบัติเหตุทางสมอง ไม่เคยได้รับยากันชักและยาแก้หอบ ไม่มีปัญหาการเลี้ยงดู เช่นการฝึกเรื่องระเบียบวินัยมาแต่เด็ก ๆ ไม่มีปัญหาทางสายตาและการได้ยิน ไม่ได้เป็นที่มีความฉลาดมากเกินไป รู้มากเกินไป จึงทำให้แพทย์สงสัยว่าปลาน่าจะเป็น “โรคสมาธิสั้น” มากกว่าโรคอื่น ๆ
แม่ของปลาถามว่า “โรคสมาธิสั้นเป็นอย่างไรค่ะคุณหมอ” แพทย์อธิบายว่า โรคสมาธิสั้น เป็นโรคซึ่งเกิดจากความผิดปกติของเนื้อสมอง มีสารสื่อประสาทชื่อ “โดบเมิน” (Dopamine) น้อยผิดปกติ ขาดการประสานงานกันระหว่างสารสื่อประสาทและเนื้อสมอง จึงทำให้ไม่สามารถควบคุมสมาธิได้นาน มีปัญหาในการควบคุมอารมณ์ ควบคุมการยับยั้งชั่งใจ เช่น อยากจะทำอะไรก็ทำเลย ไม่สามารถรอคอยได้ ไม่มีสมาธิ อยู่ไม่นิ่ง ซน วอกแวก หุนหันพลันแล่นอย่างต่อเนื่อง โรคนี้มักพบในเด็กที่มีอายุก่อน 7 ปี
“มีทางรักษาหายไหมค่ะ คุณหมอช่วยลูกหนูด้วยค่ะ” แม่ของปลาพูดด้วยเสียงสั่นเครือ แพทย์จึงอธิบายว่า “ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจก่อนว่า โรคสมาธิสั้นมีสาเหตุมาจากสมองโดยตรง ไม่ได้เกิดจากการเลี้ยงดู พ่อแม่บางคนมักลงโทษตัวเองว่า เลี้ยงดูลูกไม่ดี แต่จริง ๆ แล้ว ไม่ใช่ แต่การเลี้ยงลูกไม่ถูกต้อง สิ่งแวดล้อมที่ไม่เหมาะสมอาจมีส่วนทำให้เด็กที่เป็นโรคนี้อยู่แล้ว มีอาการหนักมากขึ้น หรือมีปัญหาแทรกซ้อนมากขึ้น”
พ่อพูดว่า “ขอความกรุณาคุณหมอช่วยดูแลลูกเป็นพิเศษด้วยนะครับ” แพทย์แนะนำว่า “จะต้องมีการพูดคุยสร้างความเข้าใจให้ตรงกันระหว่าง เด็ก บ้าน และโรงเรียน โดยทุกคนจะต้องเข้าใจว่า โรคนี้เกิดจากเนื้อเยื้อสมองผิดปกติ สารสื่อประสาทผิดปกติ ไม่ได้เกิดจากการแกล้งทำของเด็ก แพทย์ได้ให้ยาช่วยเพิ่มสารสื่อประสาท เพื่อช่วยให้สมาธิดีขึ้น พร้อมแนะนำผู้ปกครอง และครูจัดกิจกรรมและสิ่งแวดล้อมให้เด็กมีสมาธิเพิ่มขึ้น ลดสิ่งเร้าต่าง ๆ ลง เช่นลดเสียงวิทยุ ลดเสียงทีวี นั่งทำงานในห้องเงียบ ๆ เพื่อให้เด็กได้ปลดปล่อยพลังงานในทางสร้างสรรค์ออกมาอย่างเหมาะสม คุณครูอาจให้เด็กช่วยทำงานโดยแจกสมุดให้เพื่อน ๆ ช่วยครูลบกระดาน เพื่อทำให้เด็กเกิดความมั่นใจ ความภาคภูมิใจในตนเอง จนทำให้เขามีความสุข มีความมั่นใจในตนเองมากขึ้น เขาจะเป็นลูกที่น่ารักเป็นนักเรียนที่คุณครูชม และที่สำคัญคือพ่อแม่ซึ่งเป็นหัวใจของลูกนั้น ควรให้กำลังใจซึ่งกันและกัน ในการฝ่าฟันอุปสรรคต่าง ๆ ทั้งในและนอกบ้าน ให้ผ่านพ้นไปได้ด้วยดี โดยตั้งความหวังว่าสักวันหนึ่งลูกของเราจะดีขึ้น
พ่อแม่ของปลาลาแพทย์กลับด้วยใบหน้าที่ยิ้มแย้มอย่างมีความหวัง โดยแพทย์จะนัดมาตรวจเป็นระยะทุก 2 เดือน จนกว่าปลาจะมีอาการดีขึ้น”
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น