เป็นลม: สาเหตุ, การปฐมพยาบาล, และแนวทางการป้องกัน

แพทย์หญิงจินตนา โยธาสมุทร

น้อยเป็นหญิง อายุ 40 ปี วันหนึ่งขณะกำลังยืนทำอาหารอยู่หน้าเตาไฟในครัว เธอรู้สึกใจหวิวจะเป็นลม แขนขาอ่อนแรง ทรงตัวไม่ไหว ต้องทรุดตัวลงนอนกับพื้น และหมดความรู้สึกไป สามีของเธอได้ยินเสียงล้มดังครืน จึงรีบวิ่งมาดู มีอีกหลายคนรีบวิ่งมาดู ทุกคนสังเกตเห็นว่าน้อยหน้าซีด มีเหงื่อออกเป็นเม็ด ๆ ทั่วใบหน้าและลำตัว มือเท้าเย็น ชีพจรเต้นช้าและเบา จึงช่วยกันปฐมพยาบาล โดยพยุงให้เธอนอนราบศีรษะต่ำ ปลดเสื้อผ้าและเข็มขัดให้หลวม เพื่อให้เลือดไปเลี้ยงสมองได้เร็วและพอเพียง ขอร้องอย่าให้ใครเข้ามามุงดูมาก เพื่อให้อากาศถ่ายเทได้สะดวก แล้วช่วยกันใช้ผ้าเย็น ๆ เช็ดตามใบหน้า คอและแขน 

น้อยเริ่มรู้สึกตัว แต่ถูกขอร้องให้นอนพักต่อไปอีกสัก 15 – 20 นาที น้อยรู้สึกกระหายน้ำจึงขอน้ำดื่ม หลังจากนั้นสามีจึงพาน้อยไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาลแห่งหนึ่ง แพทย์ถามว่าเธอเคยเป็นลมมาก่อนหรือไม่ เคยมีโรคประจำตัว เช่น เบาหวาน ความดันเลือดสูง ไขมันในเลือดสูง โรคหัวใจ มีการตกเลือด เช่น อาเจียนเป็นเลือด ถ่ายอุจจาระดำ มีบาดแผลเลือดออก มีภาวะขาดน้ำจากการอาเจียนรุนแรง จากไข้สูง หรือจากท้องเดินรุนแรงหรือไม่ ซึ่งเธอตอบปฏิเสธว่าไม่มีโรคหรืออาการเหล่านี้เลย แพทย์ถามต่อไปว่า มีต้นเหตุซึ่งกระตุ้นให้เกิดอาการเป็นลมและมีประวัติการใช้ยาอะไรมาบ้าง เธอปฏิเสธการใช้ยา แต่เล่าให้แพทย์ฟังว่า ก่อนจะเป็นลมนั้น เธอได้รีบหันคออย่างรวดเร็ว เพื่อหยิบของซึ่งอยู่ไกลออกไป แพทย์จึงขอตรวจร่างกายของน้อยอย่างละเอียด โดยเฉพาะขอตรวจโรคทางหัวใจและหลอดเลือดสมอง เพื่อจะทำให้สามารถแยกแยะชนิดของอาการเป็นลมได้ แพทย์อธิบายว่า สาเหตุของการเป็นลม อาจเกิดจากกิริยาบางอย่างซึ่งเป็นเหตุกระตุ้น เช่น ขณะกลืนอาหาร ไอรุนแรง เบ่งถ่ายปัสสาวะหรืออุจจาระ หลังรับประทานอาหาร หันคอเร็ว ๆ โกนหนวดด้วยเครื่องไฟฟ้า และสวมเสื้อคอคับ จนทำให้เลือดไปเลี้ยงสมองได้น้อยลง

สามีของน้อยถามแพทย์ต่อไปด้วยความเป็นห่วงภรรยาว่า เธอมีโอกาสเป็นลมได้อีกหรือไม่ แพทย์อธิบายว่า “หมอต้องพยายามค้นหาสาเหตุของอาการเป็นลมก่อนว่าเกิดจากสาเหตุใด เช่นถ้าเป็นลมธรรมดา มักพบได้ในคนที่มีสุขภาพแข็งแรง โดยเฉพาะคนหนุ่มสาวซึ่งมีเหตุกระตุ้นจากการอดนอน หิวข้าว ตกใจ กลัว อยู่ในที่แออัดหรืออยู่กลางแดด ไม่จำเป็นจะต้องให้ยารักษาแต่ประการใด เพียงแต่แนะนำให้หลีกเลี่ยงเหตุกระตุ้นต่าง ๆ ยกเว้นในกรณีที่เป็นซ้ำซาก จึงควรจะกลับไปพบแพทย์เพื่อหาสาเหตุให้แน่ชัด เคยพบว่ามีบางคนเป็นลมในท่ายืน ซึ่งสาเหตุอาจเกิดจากยาที่กำลังรับประทาน เกิดจากภาวะขาดน้ำ จึงมีความจำเป็นจะต้องปรับเปลี่ยนยาให้ แต่ถ้าเกิดจากภาวะขาดน้ำ จำเป็นจะต้องให้สารน้ำหรือน้ำเกลือทางปากหรือทางหลอดเลือดดำ แต่ถ้าเป็นลมเนื่องจากโรคหัวใจหรือโรคหลอดเลือดสมอง ต้องรีบไปพบแพทย์เฉพาะทางเพื่อให้การรักษาตามสาเหตุ เช่น ให้ยาควบคุมเบาหวาน ความดันเลือด ไขมันในเลือด ภาวะหัวใจล้มเหลว ยาขยายหลอดเลือดหัวใจ ยาต้านการแข็งตัวของเลือด ถ้าจำเป็นจะต้องได้รับการผ่าตัด อย่าปฏิเสธการผ่าตัด อาจต้องพักรักษาตัวในโรงพยาบาลเพื่อสังเกตอาการอย่างใกล้ชิดในช่วงแรก 

ส่วนสาเหตุการเป็นลมของภรรยาคุณนั้น เกิดจากการหันคออย่างรวดเร็ว นับเป็นปฏิกิริยาชนิดหนึ่งซึ่งกระตุ้นให้เป็นลม จึงควรระมัดระวังการหันคอ อย่าสวมเสื้อคอคับ ดื่มน้ำให้มากเพื่อไม่ให้ร่างกายขาดน้ำ เวลาลุกจากที่นอนต้องลุกอย่างช้า ๆ ควรนั่งสักครู่ก่อนจะลุกขึ้นยืน แต่ถ้ายังไม่ได้หลีกเลี่ยงการกระตุ้นหรือแก้ไขสาเหตุ จะมีโอกาสเกิดอาการเป็นลมได้อีก แต่มักไม่มีอันตรายร้ายแรงใด ๆ ยกเว้นการเกิดอุบัติเหตุ จึงควรคำนึงไว้เสมอว่า ขณะเป็นลมหมดสติ อาจทำให้เกิดอุบัติเหตุจนตกจากที่สูงเกิดการบาดเจ็บ มีบาดแผล กระดูกหัก ศีรษะได้รับบาดเจ็บ อาจถึงขั้นมีเลือดออกในสมองได้

ดังนั้นการป้องกันจะได้ผลดีในรายที่มีสาเหตุไม่รุนแรง แต่ถ้ามีโรคอาจเกิดอาการเป็นลมซ้ำซากได้  อย่างไรก็ตามอาการเป็นลมนั้นคงจะพบได้บ่อยในคนทุกเพศทุกวัย แต่จะพบได้บ่อยมากขึ้นตามอายุที่มากขึ้น”

น้อยและสามีลาแพทย์กลับด้วยความสบายใจ เนื่องจากสาเหตุการเป็นลมของน้อยไม่ใช่เรื่องร้ายแรงใด ๆ  แต่เกิดจากการกระตุ้นของกิริยาบางชนิด ถ้าหลีกเลี่ยงกิริยากระตุ้นเหล่านี้ จะสามารถป้องกันไม่ให้มีอาการเป็นลมซ้ำอีกได้


สุขสาระออนไลน์ ฉบับที่ 244
เดือนมิถุนายน 2568
มูลนิธิสร้างสุขมุสลิมไทย (สสม.)
www.muslim4health.or.th 

ความคิดเห็น