วัยเตาะแตะ: ทำความเข้าใจและแก้ไขปัญหาการกินของลูกน้อย

แพทย์หญิงจินตนา โยธาสมุทร

เด็กชายน้อยอายุ 1 ปีครึ่ง มีการเจริญเติบโตตามพัฒนาการปกติ น้ำหนักและส่วนสูงอยู่ในเกณฑ์ปกติ แม่พาน้อยไปพบแพทย์เนื่องจากเขาไม่ค่อยกินข้าว ดื่มแต่นม ไม่ชอบกินข้าว ชอบเดินกิน ดูทีวีไป กินไป ชอบดูดนมจากขวด ไม่ชอบดื่มนมจากแก้ว ไม่ชอบกินผัก ชอบอมข้าว และกินทีไรเลอะทุกที

แพทย์ปลอบแม่ของน้อยว่า พ่อแม่จำเป็นต้องเข้าใจพัฒนาการของลูกในวัยนี้ เนื่องจากเป็นวัยซึ่งเปลี่ยนจากทารก ซึ่งต้องมีการพึ่งพาผู้ใหญ่อยู่ตลอดเวลา มาสู่การเป็นเด็กในวัยนี้ จึงอยากเป็นตัวของตัวเอง แต่ยังจำเป็นจะต้องพึ่งพาผู้ใหญ่อีกต่อไป จะเห็นว่าในวัยนี้อยากทำสิ่งต่าง ๆ ด้วยตนเอง ชอบหยิบโน่น หยิบนี่เอง อยากลอง ไม่อยากให้ผู้ใหญ่มาควบคุมมากเกินไป ไม่อยากอยู่ใต้อำนาจใคร ถ้าพ่อแม่บังคับให้กินเขาจึงแสดงออกในทางตรงกันข้าม ด้วยการไม่ยอมกิน ต้องให้แม่คอยตามป้อน

ดังนั้นการกินที่เหมาะสมคือการให้เขากินด้วยตนเอง แม้ว่ากินทีไรจะเลอะทุกที ก็เป็นธรรมชาติของเขา ต้องค่อย ๆ สอนกันไป เพื่อฝึกปรับให้มีลักษณะนิสัยในการกินที่ดีขึ้น เด็กในวัยนี้สามารถดื่มนมจากแก้วเอง หยิบของเข้าปากเอง ใช้ช้อนส้อมตักอาหารโดยไม่หกเลอะเทอะมากนักได้ พ่อแม่ควรเปิดโอกาสให้ลูกได้กินด้วยตนเอง โดยฝึกให้ลูกที่มีอายุเกิน 1 ปี ขึ้นไป กินข้าวเป็นอาหารหลักวันละ 3 มื้อ  ดื่มนมเป็นอาหารเสริมวันละ 1-2 แก้ว ถ้าให้ลูกดื่มนมมากเกินไป เขาจะไม่ยอมกินข้าวหรือดื่มนม เขาจะเลือกดื่มนมมากกว่า เนื่องจากนมดื่มง่ายไม่ต้องเคี้ยว พ่อแม่จึงไม่ควรเข้าใจผิดว่า “ถ้าลูกไม่กินข้าวก็ให้เขาดื่มนมแทน” มีอีกประการหนึ่งในการกินข้าวได้ปริมาณน้อยของลูกนั้น  แสดงว่าลูกไม่ค่อยหิวซึ่งอาจเกิดจากการกินขนมปัง ช็อกโกแลต คุ้กกี้ ขนมหวาน ผลไม้ต่าง ๆ  ระหว่างมื้ออาหารจึงทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูง ไม่มีฮอร์โมนในร่างกายที่จะกระตุ้นให้เกิดความหิว 

แพทย์กล่าวต่อไปว่า สำหรับการไม่ยอมเคี้ยวข้าวของลูกนั้น อาจเนื่องจากอาหารมีชิ้นใหญ่มากเกินไปจนยากที่จะเคี้ยว การกินไป ดูทีวีไป ชมนกชมไม้ไปนั้น จะเป็นการปลูกฝังการกินที่ไม่ถูกต้องแก่ลูก พ่อแม่ควรสอนให้ลูกกินอาหารให้เป็นกิจลักษณะ โดยจัดโต๊ะ เก้าอี้ สำหรับการรับประทานอาหาร  โดยอนุโลมให้มีของเล่นที่ชอบ นิทานที่น่าสนใจ เกี่ยวกับอาหารการกินมาวางให้ลูกดู ส่วนการฝึกลูกให้กินผักผลไม้นั้น จะต้องให้กินผักก่อนอายุ 1 ปี โดยให้ผักกินง่าย ๆ กลิ่นไม่ฉุน เช่น แตงกวา บร็อคโคลี่ โดยแม่จะต้องมีเทคนิคในการปรุงอาหาร ให้มีสีสันดึงดูดน่าสนใจ เนื่องจากถ้าฝึกลูกหลังจากอายุ 2-3 ปี ไปแล้ว เขาจะไม่ยอมกินผักไปตลอดจนถึงเติบโตเป็นผู้ใหญ่

แพทย์กล่าวต่อไปว่า เด็กที่มีอายุระหว่าง 1 ปี ถึง 1 ปีครึ่งนั้น พ่อแม่จะต้องให้ลูกเลิกดูดนมจากขวด  พยายามให้ดื่มนมจากแก้วหรือกล่องแทน ให้ลูกกินอาหารให้ครบ 5 หมู่ ถ้าลูกแพ้อาหาร อาจมีอาการแสดงออกทางผิวหนัง ทางเดินอาหาร หรือทางเดินหายใจจะต้องพาไปปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญในการให้อาหารที่เหมาะสมต่อไป

การฝีกนิสัยในการกินนับเป็นเรื่องสำคัญ เช่นเดียวกับการนอน และการขับถ่าย พ่อแม่ควรสร้างนิสัยในการเลือกรับประทานอาหารให้มีประโยชน์ต่อร่างกายให้กับลูก ถ้าเขาไม่ยอมกินข้าว พ่อแม่ควรบอกเขาดี ๆ ว่าจะไม่ได้กินขนม ไม่มีการให้รางวัล ทำให้เขาได้เรียนรู้จากการกระทำว่า ถ้ากินดีจะเหมือนกับการทำความดี จะได้รับสิ่งดีตอบแทน ได้กินขนมที่ชอบ ถ้าเขาไม่ยอมกินพ่อแม่ไม่ควรดุด่าจะทำให้เด็กเกิดความรู้สึกไม่ดีต่อการกิน มีการต่อต้าน เกิดการทำลายบรรยากาศในครอบครัว ควรทำให้ช่วงเวลาของการกินอาหารร่วมกันในครอบครัว เป็นช่วงเวลาแห่งความผาสุกอย่างแท้จริง



สุขสาระออนไลน์ ฉบับที่ 244
เดือนมิถุนายน 2568
มูลนิธิสร้างสุขมุสลิมไทย (สสม.)
www.muslim4health.or.th 

ความคิดเห็น